เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เผยเตรียมนำคณะนักธุรกิจกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจำนวน 30 บริษัท เดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย โดยนัดหารือกับหน่วยงานด้านการลงทุนและหอการค้าอุตสาหกรรม พร้อมจัดกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของทั้ง 2 ประเทศ
"วันที่ 22 ถึง 27 มีนาคมนี้ บีโอไอจะพาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจำนวน 30 บริษัท เดินทางไปขยายโอกาสทางธุรกิจ และศึกษาลู่ทางการลงทุนที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของอินโดนีเซียกับประเทศไทย" นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าว
โดยคณะฯ จะร่วมประชุมหารือทางธุรกิจกับผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรม, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์, สมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ของอินโดนีเซีย รวมทั้งหารือกับทีมไทยแลนด์เกี่ยวกับการลงทุนและการทำธุรกิจกับนักลงทุนอินโดนีเซีย พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการลงทุนต่อไป
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายที่บีโอไอต้องการส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะเป็นประเทศที่มีจุดเด่นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และตลาดขนาดใหญ่ สามารถเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้มอบหมายให้หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซียเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
"อินโดนีเซียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น มีการบริโภคภายในประเทศเพิ่ม ไทยได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าลำดับต้นๆ ของอินโดนีเซีย จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะเดินทางไปขยายช่องทางการดำเนินธุรกิจในครั้งนี้" นางอรรชกา กล่าว
นอกจากนี้ บีโอไอจะนำผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปขยายช่องทางด้านการตลาดในระดับภูมิภาค ด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านชิ้นส่วนและเครื่องจักรในการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์(อีนาป้า 2010) โดยหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม(BUILD) ของบีโอไอจะพาคณะผู้ผลิตชิ้นส่วนและเครื่องจักรอุปกรณ์ของไทยไปออกบูธแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ เพราะปัจจุบันอินโดนีเซียได้กลายเป็นแหล่งลงทุนผลิตรถยนต์ที่สำคัญของจีนและอินเดีย ทำให้มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นจำนวนมาก
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจในอินโดนีเซียนั้นพบว่าธุรกิจก่อสร้างมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งธุรกิจอาหารฮาลาล ซึ่งนักลงทุนไทยสามารถใช้วัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ของอินโดนีเซียในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนสาขาการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมรองเท้า, ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น
ขณะเดียวกัน บีโอไอจะใช้โอกาสนี้หารือกับภาคเอกชนของอินโดนีเซียที่มีศักยภาพ เพื่อชักจูงให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจากสถิติการให้การส่งเสริมการลงทุน ปรากฏว่ามีโครงการจากอินโดนีเซียมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เข้ามาลงทุนทำธุรกิจโรงแรมในไทยแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และพบว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่จะสร้างโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกับนักลงทุนไทยได้อีก