กพบ.ไฟเขียวกรอบความร่วมมือ GMS และ GMS-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 19, 2010 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(กพบ.) ซึ่งมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ(Greater Mekong Subregion Economic Cooperation:GMS) และกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

โดยกรอบความร่วมมือ GMS มีการผลักดันการดำเนินงานตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(Cross Border Transport Agreement:CBTA) ซึ่งมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ การปรับโครงสร้างกลไกการดำเนินงานอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน การให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ และเร่งพิจารณาร่างกฎหมาย 5 ฉบับ (ของกระทรวงคมนาคมและกรมศุลกากร) เพื่อรองรับการดำเนินงาน(CBTA) โดยการดำเนินงานในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ประเทศไทยเตรียมเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 19-20 ส.ค.53 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ภายใต้หัวข้อแผนงาน GMS ในทศวรรษหน้า:ขอบเขตความร่วมมือใหม่(GMS in Next Decade:The New Frontiers of Cooperation) และเตรียมผลักดันการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงการต่อเนื่อง 5 โครงการ พร้อมทั้งเร่งดำเนินการออกกฎหมายและจัดทำความตกลงทวิภาคีและไตรภาคีเพื่อขับเคลื่อน CBTA ในปี 2553 และขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม(Mekong-Japan Economic Cooperation) โดยกำหนดให้คณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่ตะวันตก-ตะวันออก(Working group on East-West Corridor Development:WEC-WG ) เป็นผู้ดำเนินการตามผลการประชุมระดับผู้นำระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค.52 เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ที่ขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

โดยกำหนดแนวทางผลักดันข้อเสนอความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น(MJ-CI) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาค โดยจะจัดการประชุมหารือเพื่อระดมความคิดระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชนประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น( Mekong-Japan Industry Government Dialogue) เป็นกิจกรรมแรกในเดือน ส.ค.53 และเตรียมจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการภายใต้ความร่วมมือ MJ-CI เพื่อนำเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจและที่ประชุมสุดยอดผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นพิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือน ต.ค.53

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบการปรับโครงสร้างกลไกการดำเนินงานการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้แผนงาน GMS โดยให้มีการปรับปรุงคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ(NTFC ของไทย) ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการจากปลัดกระทรวงคมนาคมเป็น รมว.คมนาคม เพื่อให้สอดคล้องกับกลไก NTFC ของประเทศ GMS และมีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในกรอบ GMS และอาเซียน และให้คณะกรรมการ NTFC แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการอำนวยความสะดวก ณ ด่านพรมแดน(Border Management Committee:BMC) ขึ้นเพิ่มเติมภายใต้คณะกรรมการ NTFC เพื่อประสานการดำเนินงานระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้อธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยในพืชและสัตว์(CIQ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ