รมว.พาณิชย์จีนเผยจีนอาจขาดดุลการค้าในเดือนมี.ค. ยืนยันค่าเงินหยวนไม่ต่ำเกินไป

ข่าวต่างประเทศ Sunday March 21, 2010 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวในที่ประชุมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติของจีนประจำปี 2553 ในวันนี้ว่า จีนอาจขาดดุลการค้าในเดือนมี.ค.ปีนี้ พร้อมกับปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวน และระบุว่าสหรัฐเองที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดช่องว่างทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

เว็บไซท์หนังสือพิมพ์ไชน่า อิโคโนมิค เดลี่ รายงานว่า นายเฉินปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารย์ที่ว่าจีนใช้นโยบายควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนจนเป็นเหตุให้จีนมียอดเกินดุลการค้ามูลค่ามหาศาล แต่ในทางกลับกันสหรัฐต่างหากที่ใช้มาตรการคุมเข้มด้านการส่งออกต่อจีน

"หากวิเคราะห์ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติจะพบว่า การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งปรับขึ้นค่าเงินจะมีผลกระทบต่อการค้าแค่ในกรอบที่จำกัดเท่านั้น และหากทางสหรัฐระบุว่าจีนปั่นค่าเงินหรือกดเงินหยวนให้ต่ำเกินจริงเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ผมก็ขอยืนยันแบบเดียวกันท่านนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ว่า เงินหยวนของจีนไม่ได้ต่ำเกินจริง ตามที่สหรัฐกล่าวหา และหากสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับจีน จีนก็คงไม่อยู่เฉยแน่ เราจะใช้มาตรการโต้ตอบทันที" นายเฉินกล่าว

นอกจากนี้ นายเฉินกล่าวว่า ยอดเกินดุลการค้าช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ของจีนลดลง 50% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้เงินหยวนเริ่มมีเสถียรภาพก็ตาม และคาดว่าจีนอาจจะมียอดขาดดุลการค้าในเดือนมี.ค.

นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวยืนยันในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า จีนไม่ให้ความสนใจต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวน พร้อมกับเตือนว่าการที่สหรัฐกดดันจีนในเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า ท่าทีอันแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีจีนอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ รวมถึงวุฒิสมาชิกชาร์ลส์ ชูเมอร์ กำลังเคลื่อนไหวต่อต้านจีนที่ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนไว้ที่ระดับต่ำเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ส่งออกของจีนให้มีข้อได้เปรียบด้านการค้าในตลาดโลก พร้อมกับเสนอให้สภาคองเกรสสหรัฐโต้ตอบจีนด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเพื่อชดเชยกับความเสียหายที่สหรัฐได้รับจากการถูกเอาเปรียบในตลาดการค้าโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ