ผู้เชี่ยวชาญชี้ข้อตกลงไชนาลโค-ริโอทินโตช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนสินแร่เหล็กระยะยาวในจีน

ข่าวต่างประเทศ Monday March 22, 2010 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการทำข้อตกลงโครงการสินแร่เหล็กไซมันดูของบริษัท อลูมินัม คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า หรือไชนาลโค และริโอ ทินโต จะช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนสินแร่เหล็กของอุตสาหกรรมเหล็กจีนในระยะยาว แม้ว่าราคาสินแร่เหล็กยังไม่มีแนวโน้มว่าจะร่วงลงในอนาคตอันใกล้นี้

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ไชนาลโคได้ลงนามในข้อตกลงแบบไม่ผูกมัดกับริโอ ทินโต เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและพัฒนาเหมืองสินแร่เหล็กไซมันดูในกินี แอฟริกาตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตต่อปี 70 ล้านตัน โดยผลผลิตเหล่านี้จะถูกนำมาขายให้กับจีน

นายจาง จุนเจิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยองค์การการค้าโลกของยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ อินเตอร์เนชั่นแนล บิสิเนส แอนด์ อิโคโนมิคส์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังมีเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินแร่เหล็กในจีนหรือไม่ ในเบื้องต้นนั้น ข้อตกลงยังไม่สามารถสรุปได้เนื่องจากยังไม่มีข้อบังคับตามกฎหมาย แม้ว่าบริษัทร่วมทุนจะเริ่มดำเนินธุรกิจแล้วก็ตาม และประเด็นที่ว่าราคาสินแร่เหล็กจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับจีนหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ไชนาลโคมีอำนาจในการกำหนดราคาได้หรือไม่

การทำข้อตกลงครั้งนี้ ไชนาลโคจะลงทุน 1.35 พันล้านดอลลาร์ เพื่อถือหุ้น 44.65% ในบริษัทร่วมทุน ส่วนริโอ ทินโต จะถือหุ้น 50.35% และที่เหลืออีก 5% จะเป็นหุ้นที่บริษัทไฟแนนซ์ถือ

นายจางกล่าวว่า เขาไม่มีมุมมองที่เป็นบวกในเรื่องการทำข้อตกลงนี้จนกว่าจะได้เห็นการตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นและมีสินแร่เหล็กราคาถูกนำเข้ามาในประเทศ หรือไม่ก็ไชนาลโคสามารถพัฒนาโครงการเหมืองได้ด้วยตัวบริษัทเอง

ด้านจาง หลิน นักวิเคราะห์ของบริษัท Lange Steel ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเหล็กออนไลน์ กล่าวว่า หากข้อตกลงเรียบร้อยจะมีผลกระทบเล็กน้อยต่อต้นทุนของบริษัทผู้ผลิตเหล็กในปัจจุบัน แม้ว่าข้อตกลงทำธุรกิจครั้งนี้จะช่วยทำให้ราคาสินแร่เหล็กลดลงในอนาคตก็ตาม ตอนนี้เท่าที่ทราบนั้น บริษัทร่วมทุนจะยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าจะถึงปี 2556 ดังนั้น ราคาสินแร่เหล็กในปัจจุบันจึงไม่ได้รับผลพวงจากข้อตกลงครั้งนี้มากนัก นับตั้งแต่ที่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กจีนได้นำเข้าสินแร่เหล็กในราคาตลาดสปอตมากกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้านั้น ต้นทุนปัจจุบันคงจะไม่ร่วงลงมากนัก อย่างไรก็ดี เมื่อโครงการนี้สามารถเดินหน้าได้ก็จะช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนสินแร่เหล็กลงได้

จางกล่าวต่อไปว่า การนำเข้าสินแร่เหล็กต่อปีที่ 70 ล้านตันอาจจะมีจำนวนเหล็กประมาณ 45 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผลผลิตต่อปีของบริษัท เหอเป่ย ไอออน และสตีล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ