นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) กล่าวว่า การลดแรงกดดันจากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ทางหนึ่งที่จะทำได้คือการนำเม็ดเงินบางส่วนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ขณะนี้มีสูงถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ไปใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไมว่าจะเป็นรถไฟรางเดี่ยวหรือรางคู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศแล้ว จะช่วยทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศปรับลดลงจากปัจจุบันที่มีอยู่สูงเกินความจำเป็น
ประธานกรรมการ EXIM BANK มองว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีอยู่ถึง 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อรวมทองคำด้วยแล้วจะมีสูงถึง 1.5-1.6 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 3 เท่านั้น ถือว่าเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากเกินความจำเป็น ดังนั้นจึงควรจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่องเงินทุนออกนอกประเทศไปเมื่อต้นเดือนก.พ.53 ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้มีเม็ดเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
"ผมอยากเห็นว่าเรารีบไปลงทุนใน infrastructure เพื่อเอาเงินไปลงทุนซื้อรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นแบบรางเดี่ยว หรือรางคู่ ซึ่งจะช่วยลดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลง เพราะจริงๆ แล้วช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของเอกชนก็ไม่ได้เติบโตมากนัก ดังนั้นต้องมีการลงทุนมากๆ เงินทุนสำรองจึงจะลดลง" นายณรงค์ชัย กล่าว
นอกจากนี้ การให้บริษัทหลักทรัพย์จัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์(Property Fund)ขึ้น เพื่อระดมเงินไปใช้ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่มีราคาถูก ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดแรงกดดันจากค่าเงินบาทได้ แต่แนวทางนี้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเกรงว่าเงินจะหายไป
ส่วนการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น มองว่าสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองฯ มาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ เพียงแต่แนวคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากศิษยานุศิษย์ของหลวงตามหาบัว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ธปท.คงต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป