SCB-HSBC มองมาบตาพุด-ชุมนุมการเมืองหากยืดเยื้อเป็นจุดเสี่ยงศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 23, 2010 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัยธนาคารไทยพาณิชย์และ HSBC คาด เฟดยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโบบายในครึ่งแรกของปี 53 แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกและสหรัฐจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.5-4.7% แต่มีจุดเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือปัญหามาบตาพุดซึ่งมีความรุนแรงกว่าปัญหาการเมือง แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อก็อาจส่งผลความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติได้

นายเศรษฐพุฒ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)กล่าวในงานสมมนาเรื่อง มุมมองเศรษฐกิจโลกและทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 53 ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มฟื้นตัว และยังมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจอยู่มาก โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่จะลดลง ดังนั้นแม้ภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้จะดูดี แต่มองว่าในช่วงครึ่งหลังปี 53 ยังมีความเสี่ยง

เศรษฐกิจสหรัฐ ประสบวิกฤติที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น การฟื้นตัวคงต้องใช้เวลานาน สะท้อนได้จากตลาดแรงงานที่ยอดผู้มีงานทำมีจำนวน 137 ล้านคน ยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะฟื้นกลับสู่ภาวะปกติได้ อีกทั้งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐในเรื่องการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) ก็ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่เคยเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ บัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์

ดังนั้น มองว่าการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังมีความเปราะบาง จึงเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ และเชื่อว่าสหรัฐอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการการคลัง ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ออกมาอีก หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก เริ่มจะหมดแรงกระตุ้นแล้วในช่วงครึ่งหลังปี 53

สำหรับเศรษฐกิจไทย ปี 53 เชื่อว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ในอัตรา 3.5-4.5% โดยแรงขับเคลื่อนหลังมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีช่วงครึ่งปีแรก แต่จะชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังจากการแผ่วลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากภาคการผลิต

ส่วนเงินเฟ้อปี 53 ช่วงครึ่งปีแรกน่าจะอยู่ที่ 3% และครึ่งปีหลังน่าจะต่ำกว่า 3% โดยเชื่อว่าหลังจากรัฐบาลได้ต่ออายุมาตรการช่วงเหลือค่าครองชีพประชาชนถึง มิ.ย.53 แล้ว หลังจากนั้นน่าจะมีการต่ออายุมาตรการอีก ซึ่งหากรัฐบาลยกเลิการต่ออายุมาตรการ อาจทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น 1% ส่วนแนวโน้มเงินบาท คาดว่าสิ้นปี 52 เงินบาทจะแข็งค่าอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่ากังวลของเศรษฐกิจไทย คือกรณีมาบตาพุด ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก และในระยะยาว เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นใจ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่วนการชุมนุมทางการเมือง อาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวและการจัดการภาครัฐในการจัดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ที่เป็นห่วงมากกว่าคือมาบตาพุด กระทบเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาการเมืองที่ไม่ได้มีผลร้ายแรง เพราะเชื่อว่าต่างประเทศคุ้นเคยแล้ว แต่มาบตาพุด กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศ กระทบการลงทุนโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการจ้างงานด้วย อีกทั้งนักลงทุนต่างประเทศมีทางเลือกตลอดเวลา เราจึงทำตัวเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะมีคู่แข่งที่มีเสนห์เหมือนกัน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีจุดแข็งมีความได้เปรียบ ทั้งภาคการท่องเที่ยวและอาหารที่มีศักยภาพการแข่งขัน อีกทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ยังมีเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ ที่สะท้อนความมีเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ด้านนายภาสันต์ สิงหา หัวหน้านักวิเคราะห์กลยุทธตลาด ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (ประเทศไทย) หรือ HSBC กล่าวว่า เฟด จะยังไม่มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ จนถึงครึ่งแรกปี 53 แม้จะเริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่หลายฝ่ายติดตามว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์มานานแล้ว

ปัจจัยที่เชื่อว่าเฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ เนื่องจากต้องการควบคุมเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และต้องการให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และเกิดการจ้างงานในระดับเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันอัตราการว่างงานในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง โดยมองว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปี 54

ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจไทย ในปีนี้จะขยายตัวในอัตรา 4.7% แม้ว่าจะมีการชุมนุมยืดเยื้อ แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ยังถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล ก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดในการจัดทำนโยบายต่างๆ เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

"การเมืองแม้มีการประท้วง แต่ไม่รุนแรง ตลาดก็ยังดูดี แต่ยังมีความเสี่ยง ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะนักลงทุนที่ไม่คุ้นเคยกับปัญหาการเมืองของไทย อาจจะยังไม่กลับมาลงทุน" นายภาสันต์ กล่าว

ส่วนเงินเฟ้อในปี 53 เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 3-3.5% ผันผวนตามราคาน้ำมัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยูที่ 1.75-2% ส่วนเงินบาทสิ้นปีนี้น่าจะแข็งค่าอยู่ที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ และปี 54 แข็งค่าต่อไปที่ 31 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากยังมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในเอเซีย รวมถึงไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเงินที่เข้ามาลงทุนนั้นมีความเหมาะสม และเป็นการเข้ามาเก็งกำไรหรือไม่ ขณะที่มองว่าจีนอาจเริ่มให้ค่าเงินหยวนเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวมากขึ้นในช่วงกลางปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ