นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ยุคสมัยแห่งเอเชีย...ขุมพลังใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก" ในงาน EXIM Forum ว่า เศรษฐกิจในเอเชียกำลังเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยดูได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของกลุ่มประเทศในเอเชียที่มีการเติบโตดีกว่า, การที่เอเชียก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเวทีการค้าโลก, เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศในเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเอเชียเพื่อเพิ่มบทบาทที่สำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
ด้านนางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK กล่าวว่า โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยของเอเชีย เพราะฉะนั้นไทยจำเป็นต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการผนึกกำลังกับกลุ่มอาเซียน เพื่อขยายความร่วมมือไปยังประเทศนอกกลุ่ม และเป็นการขยายตลาดสินค้าของไทยให้กว้างขวางขึ้น
ทั้งนี้จากเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่มุ่งสู่การเป็นฐานในการผลิตและการตลาดร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า, บริการ, การลงทุน, เงินทุน ตลอดจนแรงงาน ซึ่งมีข้อตกลงว่าจะเปิดเสรีสินค้าภายในอาเซียนด้วยกันโดยการลดภาษีเหลือ 0% ในปี 58 และเปิดเสรีภาคบริการที่ให้สิทธิต่างชาติในการถือครองหุ้นในธุรกิจบริการภายใต้ AEC เป็น 70% ภายในปี 58 นั้น ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จาก AEC ด้วยการเร่งรุกตลาดในสินค้าที่ไทยได้เปรียบหรือมีจุดแข็ง เช่น สินค้าข้าวโพด ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศในตลาดอินโดนีเซีย, สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ในตลาดมาเลเซีย, น้ำตาลทราย ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์ยาง ปูนซีเมนต์ เครื่องปรับอากาศ ในตลาดเวียดนาม และสินค้าเครื่องดื่ม ในตลาดสิงคโปร์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ต้องเร่งปรับตัวด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสินค้าที่ไทยยังมีจุดอ่อน พร้อมทั้งเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น โดยหากเป็นสินค้าเกษตรก็จะต้องเพิ่ม yield และเทคโนโลยีการผลิต และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ก็จะต้องเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพแทนการแข่งขันด้านราคา โดยใช้ Creativity และ Innovation
นางขวัญใจ ยังกล่าวถึงสินค้าบริการที่ไทยมีจุดแข็งคือ การท่องเที่ยว และบริการด้านสุขภาพ ซึ่งถือว่าไทยมีศักยภาพสูงเป็นอันดับต้นของอาเซียน เพราะเมื่อมีการเปิดเสรีภาคบริการตามข้อตกลงของ AEC แล้วจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยจุดแข็งของการท่องเที่ยวไทย คือ โรงแรมที่พักมีหลายระดับราคา, ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไม่สูง, มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เป็นต้น ขณะที่จุดแข็งด้านบริการสุขภาพของไทย คือ ค่ารักษาพยาบาลถูก, มีโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นต้น
"เมื่อเปิดเสรีบริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพของไทย จะได้ประโยชน์มาก" ผ.อ.ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK กล่าว
ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีหลังข้อตกลง AEC มีผลสมบูรณ์ในปี 58 อาจทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบในการขาดแคลนบุคคลากรด้านการแพทย์ และวิศวกร เนื่องจากจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากไทยเข้าไปทำงานในประเทศอาเซียนที่มีค่าจ้างและผลตอบแทนสูงกว่า นอกจากนี้ยังอาจทำให้แรงงานที่มีคุณภาพบางสาขาจากต่างประเทศ เช่น การเงิน การธนาคาร และไอที ไหลเข้ามาแย่งงานในประเทศไทยได้
นางขวัญใจ กล่าวว่า จากการที่ความตกลงภายใต้ AEC จะมีผลสมบูรณ์ในปี 58 นั้น สรุปได้ว่าประเทศไทยจะต้องมีการรุกตลาดสินค้าที่ไทยได้เปรียบและขยายตลาดตามกรอบความร่วมมือใหม่ๆ, เน้นบริการด้านการท่องเที่ยวและด้านสุขภาพที่ไทยมีจุดแข็งหลายด้าน, ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และพร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ, เพิ่มพูนทักษะแรงงาน โดยเฉพาะด้านภาษา และการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล รวมทั้งสุดท้ายผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวในการบริหารจัดการด้านต้นทุน และปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ท่ามกลางภาวะการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีและค่าเงินที่มีแนวโน้มผันผวน
ด้านนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวถึงแนวทางที่ธนาคารจะช่วยต่อยอดให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ข้อตกลง AEC ว่า EXIM BANK จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการส่งออกและการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศในสินค้าหรืออุตสาหกรรม หรือบริการที่ประเทศไทยได้เปรียบและในตลาดที่ไทยมีศักยภาพ
โดยธนาคารจะศึกษาและให้การสนับสนุนข้อมูลอุตสาหกรรมสินค้า รวมทั้งประเทศที่ไทยมีความได้เปรียบ ตลอดจนสนับสนุนด้านการเงิน เช่น สินเชื่อเพื่อการส่งออก, สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนการบริหารความเสี่ยง ทั้งในด้านให้บริการประกันการส่งออก, บริการประกันความเสี่ยงการลงทุน และบริการด้านอัตราแลกเปลี่ยน
พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมรองรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นในอนาคต เช่น สนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, การลงทุนด้าน Energy Saving, สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยได้เปรียบ คือ Agri-based Industry, สนับสนุน Creative & Innovative Industry รวมทั้งการสนับสนุนสินค้าที่สอดคล้องกับ Social Changes หรือ Global Trend ทั้งนี้ธนาคารยังจะมุ่งสร้างเครือข่ายในประเทศเป้าหมายเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ Buyer's Bank Credit และการสร้างเครือข่ายกับสถาบันการเงินพันธมิตรในตลาดที่มีศักยภาพ