แบงก์ชาติมาเลเซียปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของศก.ปีนี้เป็น 5.5%

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 25, 2010 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางมาเลเซียยกระดับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2553 เป็น 5.5% เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มดีดตัวขึ้นจากภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบกว่าสิบปีเมื่อปีที่แล้ว

นางเซติ อัคตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวในการแถลงรายงานประจำปี 2552 ของแบงก์ชาติวานนี้ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวในช่วง 4.5 - 5.5% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความต้องการในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น และปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ นางเซติกล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ อาทิ การขยายตัวของสินเชื่อ และ ตัวเลขส่งออก บ่งชี้ว่าจีดีพีในไตรมาสแรกปีนี้จะขยายตัวสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาด้วย

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นางเซติยังได้ส่งสัญญาณเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า ธนาคารกลางจะยังคงติดตามตรวจสอบสถานะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม แบงก์ชาติมาเลเซียได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี เนื่องจากเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมั่นคง หลังจากที่เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวถึง 4.5% ในไตรมาส 4 ปี 2552 ซึ่งนับเป็นการกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกหลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส

"แม้ว่าเรายังคงนโยบายการเงินที่เอื้อประโยชน์และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เป็นมาตรฐานนั้นก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและเพื่อป้องกันภาวะไร้สมดุลทางการเงินไม่ให้มาขัดขวางการขยายตัวของเศรษฐกิจ" ผู้ว่าธนาคารกลางมาเลเซียกล่าว

ทั้งนี้ มาเลเซียสามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้ ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวม 6.7 หมื่นล้านริงกิต (2 หมื่นล้านดอลลาร์) ที่รัฐบาลได้เริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2551 เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยในปีที่แล้ว เศรษฐกิจมาเลเซียหดตัว 0.7%

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลพุ่งขึ้นแตะ 7.4% ของจีดีพีในปี 2551 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี แต่นายกรัฐมนตรีนาจิบ อับดุล ราซัก เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณลงมาเหลือ 5.6% ของจีดีพีปีนี้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดที่จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model) ในระหว่างการประชุม Invest Malaysia 2010 Conference ในวันอังคารหน้า ซึ่งรวมถึงมาตรการใหม่ๆเพื่อส่งเสริมปัจจัยการลงทุนในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ