นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยประเมินว่าโอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการชุมนุมยืดเยื้อไม่เกิน 1 เดือน จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้ลดลงราว 0.1-0.2% ทำให้คาดว่าจีดีพีของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 3.3-3.8% โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลมากที่สุดคือ ธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจะสูญเสียเม็ดเงินไปราว 1-2 หมื่นล้านบาท
ส่วนผลกระทบของการบริโภคหากการชุมนุมยืดเยื้อไม่เกิน 1 เดือน จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หายไปราว 10,000-16,000 ล้านบาท และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 21,000-38,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การชุมนุมคลี่คลายได้เร็วก็มีโอกาสที่จีดีพีจะกลับมาเติบโตอยู่ที่ระดับ 4% ได้ และจีดีพีในระดับ 3.5-4.0% สำหรับปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด
"หากการชุมนุมยืดเยื้อไม่เกิน 1 เดือนจะกระทบจีดีพีลดลงประมาณ 0.1% แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วก็เชื่อว่าเศรษฐกิจพร้อมจะกลับมาทะยานได้ที่ 4% ตามเดิม" นายธนวรรธน์ กล่าว
แต่ทั้งนี้หากการชุมนุมยืดเยื้อเกินไปจาก 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือนนั้น ม.หอการค้าไทยประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีในปีนี้ให้ลดลงราว 0.3-0.5% โดยทำให้จีดีพีปีนี้จะลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.0-3.5% ส่วนผลกระทบของการบริโภคหากการชุมนุมยืดเยื้ออยู่ในระดับ 1-3 เดือน จะทำให้กำลังซื้อหายไปราว 2-3 หมื่นล้านบาท การท่องเที่ยวจะสูญเสียเม็ดเงินราว 4-5 หมื่นล้านบาท และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมคิดเป็นมูลค่าราว 70,000-100,000 ล้านบาท
"หากการชุมนุมยืดเยื้อเกิน 1-3 เดือน ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสงกรานต์ ช่วง summer ก็จะทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศท่องเที่ยวลดลง...จีดีพีอาจลงไปเหลือ 3-3.5%" นายธนวรรธน์ กล่าว
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า จากการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันพบว่าภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุดในขณะนี้ คือภาคการท่องเที่ยว และการบริโภค โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปราว 15% คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปราว 200-500 ล้านบาท/วัน ขณะที่ปริมาณการบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยลดลงไปราว 500-800 ล้านบาท/วัน
โดยรวมแล้วปัจจัยที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญสูงสุด คือ ปัจจัยทางการเมือง รองลงมาคือ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ซึ่งหากยังอยู่ในระดับเฉลี่ยไม่เกิน 31 บาท/ลิตร ผู้ประกอบการยังสามารถยอมรับได้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ เพราะยังเชื่อมั่นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังสามารถบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนได้
ด้านนางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะกรรมการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ พบว่าภาคธุรกิจถึง 44.64% ระบุว่าได้รับผลกระทบมากหากประเทศไทยยังมีการชุมนุมต่อเนื่องไปอีก 1-3 เดือน รองลงมา 27.68% ระบุว่าได้รับผลกระทบปานกลาง และอีก 16.96% ระบุว่าได้รบผลกระทบน้อย มีเพียง 10.71% ที่บอกว่าไม่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ตอบว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันมากที่สุดถึง 77.4% คือ ภาคบริการ รองลงมาคือ ภาคการค้า 66.7%, ภาคเกษตร 62.5% และภาคอุตสาหกรรม 51.7% แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุว่า จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนงานเดิมที่ตั้งไว้ไม่ว่าจะเป็นแผนการลงทุน การขยายตลาด และการขอสินเชื่อเพื่อเพิ่มการลงทุน
สำหรับภาคธุรกิจถึง 51.6% ที่คาดว่ายอดขายจะลดลงมากที่สุด คือ ภาคบริการและการท่องเที่ยว รองลงมาคือ ภาคการค้าส่งและค้าปลีก 33.3% และภาคการเกษตร 25% โดยภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าต้นทุนในการประกอบการยังไม่เพิ่มขึ้น และไม่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ตลอดจนยังไม่มีผลต่อการส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก
โดยผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ประกอบการ 63.7% เห็นว่าควรเร่งเจรจากันระหว่าง 2 ฝ่ายให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว รองลงมา 25.4% เห็นว่าไม่ควรใช้ความรุนแรงระหว่างการชุมนุม ส่วน 5.2% ระบุว่าให้นึกถึงประโยชน์ของประเทศก่อนประโยชน์ส่วนตน และอีก 5.7% เสนอแนะทางอื่นๆ เช่น การยุบสภา และการยกเลิกการชุมนุม เป็นต้น
นอกจากนี้ ม.หอการค้าไทย ยังประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการต่อปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องการเมือง นั่นคือ ปัจจัยราคาน้ำมันซึ่งพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ระบุว่า ระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปีนี้มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 31.70 บาท/ลิตร โดยระดับราคาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ที่ 26.30 บาท/ลิตร และระดับราคาน้ำมันที่ภาคธุรกิจสามารถแบกรับภาระต้นทุนได้คือต้องไม่เกิน 30.10 บาท/ลิตร
ส่วนผลกระทบของผู้ประกอบการจากปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึง 90.2% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน มีเพียง 9.8% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ โดยผู้ประกอบการนำเข้าเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 30.30 บาท/ดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกเห็นว่าระดับที่เหมาะสมคือ 34.10 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งโดยเฉลี่ยจากทั้งผู้นำเข้าและส่งออกพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสมต่อภาคธุรกิจ คือ 33.10 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 48.6% ระบุว่าพึงพอใจในระดับปานกลางต่อเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนที่ ธปท.ดูแลอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอีก 28.4% ระบุว่าพึงพอใจมาก และอีก 17.4% ระบุว่าพึงพอใจน้อย มีเพียง 5.5% ที่ระบุว่าไม่พึงพอใจเลย ซึ่งทำให้โดยรวมแล้วผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 60.7% มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนในระดับปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่ในระดับปานกลาง
ส่วนทัศนะเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและมีผลต่อภาคธุรกิจนั้น หากมองในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าปัญหาการเมืองมีผลกระทบมากที่สุด รองลงมา คือปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุน และปัญหาการชุมนุมในปัจจุบัน แต่หากมองในแง่ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ จะพบว่าปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีผลกระทบมากที่สุด รองลงมา คือปัญหาราคาวัตถุดิบสูง และปัญหาความเชื่อมั่น