สศก.พยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรปี53 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคา-นโยบายรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 26, 2010 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรปี 2553 ผลผลิตข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในภาพรวม ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสำเร็จของนโยบายประกันรายได้ จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกมากขึ้น ตลอดจน ราคาที่อยู่ในระดับสูง โดยข้าวนาปรังปี 2553 พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกยังคงเพิ่มขึ้นถึงแม้ปริมาณน้ำที่ใช้ในการ เพาะปลูกจะน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ภาพรวมผลผลิตพบว่าลดลง เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และ การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

สำหรับพืชไร่โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และ ถั่วลิสง ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแม้ในปีนี้ อาจจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่เนื่องจากพืชตระกูลถั่ว ดังกล่าวเป็นพืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก

ในส่วนอ้อยโรงงานมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก จากราคาขั้นต้นอ้อยโรงงานปีเพาะปลูก 2552/53 ที่สูงถึงตันละ 965 บาท จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น แต่มันสำปะหลังเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตลดลงจาก การระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู และมีแนวโน้มจะลดลงมากขึ้น หากเกษตรกรไม่ร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงที่จะ ป้องกันกำจัด โดยควรเร่งรัดมาตรการแก้ปัญหา ด้านสับปะรดโรงงาน พบว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตยังคง เพิ่มขึ้น แม้จะประสบปัญหาภัยแล้งในแหล่งผลิตใหญ่ในภาคกลางบ้างก็ตาม

สำหรับปาล์มน้ำมัน และยางพารา พบว่า เนื้อที่ให้ผล และผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้นจากการปลูกในพื้นที่เดิม ทดแทนต้นอายุมากในภาคใต้ และในพื้นที่ใหม่ในภาคอื่นเริ่มทยอยให้ผลผลิตแล้ว ในส่วนของไม้ผล ได้แก่ เงาะ มังคุด และลองกอง ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ออกดอกมากและค่อนข้างสมบูรณ์ ยกเว้น ทุเรียน และลิ้นจี่ ที่ผลผลิตลดลงเนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการโค่นต้นทุเรียนที่เป็นโรคและอายุมาก แต่สำหรับลิ้นจี่นั้น ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวไม่ต่อเนื่อง ทำให้ติดดอกน้อย ส่วนกระเทียมและหอมแดง ให้ผลผลิตลดลงเนื่องจากขาดแคลนเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก ด้านหอมหัวใหญ่ กับ มันฝรั่ง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากราคาจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มเนื้อที่เพาะปลูก และมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนให้เพาะปลูกเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ด้านการผลิตปศุสัตว์ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และโคนม มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว ยกเว้นโคเนื้อที่ลดลง เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาในการเลี้ยง จึงเลิกเลี้ยงเป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ