ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระบุปริมาณน้ำในเขื่อนที่เหลืออยู่จะน้อยกว่าปีก่อนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.53 โดยปริมาณน้ำยังมีเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค
"ปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนค่าเอฟทีในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เนื่องจากใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 5 ที่เหลือเป็นเชื้อเพลิงอื่น เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล" นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
โดยขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศเหลือน้อยกว่าปีก่อน โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปริมาณน้ำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 40 และต้องระบายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรตามที่กรมชลประทานประสานแจ้งปริมาณความต้องการมา
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ.ในปี 53 มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 24 มี.ค.3 มีปริมาตรน้ำในอ่างทั้งหมด 38,171 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 61.05 ของความจุอ่างทั้งหมด โดยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,813 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42.23, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,240 ล้านลุกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47.18 โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำ 858.86 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35.52 เท่านั้น
สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ในเดือน มี.ค.นี้ ทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นครั้งที่ 6 อยู่ที่ 23,304 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่ผ่านมา ร้อยละ 5.7 ส่งผลให้ กฟผ. ต้องปรับพีคในปีนี้อีกครั้ง โดยปรับเพิ่มเป็น 23,600 เมกะวัตต์ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 23,000 เมกะวัตต์
ขณะที่ นายพิสุทธิ์ โชคคติวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณเหลือเพียงร้อยละ 35 ดังนั้นจึงต้องจัดเตรียมรถน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ และประชาชนให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้ โดยยืนยันว่า มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการชลประทานและการเพาะปลูก
"ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ขณะนี้มีปริมาณอยู่ที่ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อภาคการเกษตรหากมีปริมาณน้ำฝนเข้ามาทัน ส่วนการผลิตไฟฟ้าใช้น้ำเพียง 10 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เชื่อว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองจะไม่ต่ำกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร จนทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้" นายพิสุทธิ์ กล่าว