องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่า การค้าโลกในปี 2553 จะขยายตัว 9.5% จากปีที่แล้วในแง่ของปริมาณ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยและกำลังฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ
WTO ระบุว่า ปริมาณการส่งออกของประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 7.5% ในปีนี้ ขณะที่การส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% โดยพิจารณาจากสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.9%
อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีเพื่อที่ปริมาณการค้าจะขยายตัวผ่านระดับสูงสุดประวัติการณ์ในปี 2551 และการคาดการณ์อาจถูกปรับทบทวนลง ขึ้นอยู่กับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน
โดยปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการ WTO เตือนว่า ลัทธิปกป้องตัวเอง หรือ การกีดกันทางการค้า ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการค้าโลกในปี 2553 นี้ ตราบใดที่สถานการณ์การจ้างงานไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว
ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่การค้าอาจดีกว่าการประเมิน ตัวอย่างเช่น หากอัตราว่างงานในประเทศพัฒนาแล้ว ลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ในปี 2552 การค้าโลกหดตัว 12.2% ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และการค้าโลกทรุดลง 23% ในแง่ของมูลค่า แตะ 12.15 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งการลดลงนี้มาจากหลายปัจจัย รวมถึงการใช้มาตรการกีดกันการค้า แต่สาเหตุหลักคือความต้องการที่ลดลงทั่วโลกอันเนื่องจากผลพวงของวิกฤตการเงินโลก
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศและภูมิภาค WTO ระบุว่า ทุกประเทศและภูมิภาคมีปริมาณการส่งออกลดลงในปีที่แล้ว โดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลง 13.9% และ 14.8% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกของญี่ปุ่นในปีที่แล้ว ร่วงลงถึง 24.9% จากปี 2551 นับเป็นยอดส่งออกที่ลดลงมากที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว
ส่วนจีนนั้นก็มียอดส่งออกลดลงเช่นกัน แต่น้อยกว่าระดับการส่งออกเฉลี่ยทั่วโลกไม่มากนัก โดยจีนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก ด้วยมูลค่า 1.20 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2552 แซงหน้าเยอรมนี แชมป์เก่า