(เพิ่มเติม) คลัง ปรับคาดการณ์ GDP ปี 53 มาที่ 4.5% จากเดิม 3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 29, 2010 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมีนาคม 2553 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการ ณ เดือนธันวาคม 2552 ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี

"คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 4.5% จากเดิมที่ประมาณการไว้ 3.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่โตจาก 3% เป็น 3.7%"

โดยเฉพาะคู่ค้าใหม่ในเอเชีย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวในอัตราสูง

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภายในประเทศในปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เพราะฉะนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างสมดุลมากขึ้น เพราะฟื้นตัวทั้งอุปสงค์ภายนอกประเทศและอุปสงค์ภายในประเทศพร้อมๆ กัน

"การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้เข้าใกล้สู่ภาวะปกติ แต่ สศค.ก็ไม่ประมาทเพราะมีสัญญาณเศรษฐกิจจีนถดถอยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา"

สำหรับประมาณเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ดังกล่าวได้คำนึงถึงผลกระทบจากปัญหาการเมืองและปัญหามาบตาพุดไว้แล้ว หากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาทั้ง 2 เรื่องได้รวดเร็ว และเร่งรัดเบิกจ่ายเงินโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% ของกรอบวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็เชื่อว่าในปี 53 มีโอกาสสูงที่จีดีพีจะขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ไปอยู่ที่ 5% ได้"

สำหรับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองได้มีการประเมินไว้หลายสถานการณ์ ตั้งแต่ชุมนุมยืดเยื้อปกติไปจนถึงการชุมนุมขั้นรุนแรง ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นก็คงจะอยู่ที่ 4.5% แต่หากยืดเยื้อไปถึงไตรมาสที่ 2 จีดีพีก็จะลดลง 0.2% มาอยู่ที่ 4.3% แต่ถ้ายืดเยื้อถึงไตรมาสที่ 3 จีดีพีจะลดลง 0.5% มาอยู่ที่ 4% และหากเกิดสถานการณ์รุนแรงและยืดเยื้อถึงไตรมาสที่ 4 จีดีพีจะลดลงถึง 1.8% มาอยู่ที่ 2.7%

ส่วนผลพวงทางการเมืองยังไม่สามารถบอกได้ เพราะการเจรจาเพิ่งจะเริ่มขึ้น แต่เชื่อว่าคงจะคลี่คลายในเวลารวดเร็ว

"เศรษฐกิจในปีนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างสมดุลมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นและการส่งออกที่ขยายตัวดีมากตามการฟื้นตัวเร็วของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า"นายสาธิต กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมาจากการะงับโครงการในมาบตาพุดและการเมืองที่อาจส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรวมถึงงบลงทุนโครงการไทยเข้มแข็งให้เป็นไปตามเป้าหมาย

นายสาธิต ยังกล่าวถึงดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขยายตัว 6.7% (น่าจะสูงที่สุดในโลก) เป็นผลมาจากเงินทุนไหลเข้าประมาณ 1,122 ล้านเหรียญฯ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจของเอเชียสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าทางยุโรปหรืออเมริกา และผลประกอบการของบริษัทสามารถทำกำไรได้ดีกว่า และเชื่อมั่นว่าการเมืองไม่รุนแรง

"การลงทุนที่เข้ามาครั้งนี้ ไม่ได้มาเฉพาะไทย เข้ามาทั้งภูมิภาคแต่ของไทยมีสัดส่วนที่มากกว่าที่อื่น อย่างไรก็ตามการลงทุนในลักษณะอาจจะมีความผันผวน เนื่องจากอาจจะมีการถอนการลงทุนออกไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้คงจะยังไม่มีการถอนการลงทุนออกไปเพราะตอนที่เข้ามาเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้ลงมาอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ก็อาจจะมีการชะลอดูจังหวะ หากการลงทุนเป็นในรูปของ FDI น่าจะเป็นเรื่องดีกว่า"นายสาธิต กล่าว

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 9.7% ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนที่หดตัว 12.7% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 2553 โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นประมาณ 20% ตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก และการจ้างงานที่ดีขึ้น สังเกตจากยอดขายรถจักรยานยนต์ รถที่ใช้ในการเกษตร โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 4.3% ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวจากฐานต่ำในปีก่อนมาอยู่ที่ 8.2%

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.5 - 4.5% ต่อปี) ตามราคาน้ำมัน ราคาสินค้าและบริการ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อีกทั้งคาดว่าจะมีการยกเลิกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพในไตรมาส 3 ของปี 2553 จะมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 จะยังคงเกินดุลอยู่แต่จะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่2.4% ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9 — 2.9% ของ GDP) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะกลับมาขยายตัวสูงตามการใช้จ่ายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและฐานที่ต่ำในปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ