สศก.คาดแนวโน้มส่งออกกุ้งไทยปี 53 ที่ 9.3 หมื่นลบ.ใกล้เคียงปี 52

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 29, 2010 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าการส่งออกกุ้งและ ผลิตภัณฑ์ในปี 2553 จะใกล้เคียงกับปี 2552 ที่ส่งออกเป็นปริมาณทั้งสิ้น 399,412 ตัน มูลค่า 93,612 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีท่าทีจะยกเลิกการเก็บภาษีเอดีให้กับไทย ประกอบกับจีนและเวียดนามประสบปัญหาการเลี้ยงกุ้ง และอินโดนีเซีย ก็ยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาโรคระบาด

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและความเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง จากการเก็บภาษีเอดีของสหรัฐอเมริกา แต่ไทยก็ยังคงรักษาตลาดส่งออกกุ้งในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็น ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ตามลำดับ เนื่องจากไทยได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จาก สหภาพยุโรป ด้านตลาดในประเทศ ผลผลิตกุ้งประมาณร้อยละ 10 — 15 ของทั้งหมดใช้บริโภคภายในประเทศ โดยในปี 2552 คาดว่ามีการบริโภคภายในประเทศประมาณ 80,000 ตัน

ในส่วนของราคาที่เกษตรกรขายได้ ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 61-70 ตัว/กิโลกรัม) มีแนวโน้มลดลง เล็กน้อยจากกิโลกรัมละ 107 บาทในปี 2551 เป็นกิโลกรัมละ 106 บาทในปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 0.93 เนื่องจากในช่วงเดือนกรกฎาคม — กันยายน มีผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดมาก ทำให้ราคากุ้งตกต่ำ รัฐจึงมีนโยบายในการแทรกแซงราคา โดยการรับจำนำกุ้ง ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น

ด้านราคาส่งออก FOB พบว่า ราคาส่งออก กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งลดลงจากกิโลกรัมละ 215.37 บาท ในปี 2551 เป็นกิโลกรัมละ 211.64 บาทในปี 2552 คิดเป็นร้อย ละ 1.73 ซึ่งการที่ราคาส่งออกในรูปเงินบาทจะเพิ่มหรือลดนั้น นอกจากจะขึ้นกับราคาในตลาดโลกแล้วยังขึ้นกับอัตรา แลกเปลี่ยนเงินตราอีกด้วย

สำหรับการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในปี 2552 สูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า เมื่อเทียบกับปี 2551 คิดเป็น ร้อยละ 7.5 และ 5.2 ตามลำดับ โดยส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมากที่สุดทั้งปริมาณและมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 55 และร้อยละ 49 ตามลำดับ รองลงมาเป็นกุ้งปรุงแต่ง และผลิตภัณฑ์กุ้งต่างๆ

ขณะที่สถานการณ์การผลิตกุ้งของไทยว่า ปี 2552 ผลผลิตกุ้งของไทยเพิ่มขึ้นจาก 450,000 ตันในปี 2551 เป็น 560,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เนื่องจากเกษตรกรมีประสิทธิภาพการเลี้ยงเพิ่มขึ้นและมีความสามารถควบคุมเรื่องการระบาดของโรคได้ดี แม้ว่าในบางพื้นที่จะได้รับความเสียหายจากโรคบ้างก็ตาม

ประกอบกับปัจจุบันโรงเพาะฟักและฟาร์ม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมประมงแล้วมากกว่าร้อยละ 80 โดยมีแหล่งผลิตกุ้งที่สำคัญของไทย ได้แก่ จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี ส่วนแนวโน้มปี 2553 คาดว่าผลผลิตกุ้งจะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าหรือลดลงเหลือ ประมาณ 540,000 ตัน เนื่องจากภาวะอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์อัลนิโญ อาจทำให้อัตราการ เจริญเติบโตของกุ้งไม่ดีหรือมีอัตรารอดน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ