นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573(พีดีพี 2010) กล่าวว่า ตามแผนพีดีพี 2010 ในระยะ 20 ปีข้างหน้า กำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด หรือ 5,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 5 โรง
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกจะเริ่มในปี 2563 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ และปี 2564 ขนาด 1,000 เมกกะวัตต์ เพื่อเป็นการรักษาสำรองไฟฟ้าของประเทศให้อยู่ที่ระดับ 15.6%
แต่หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีความล่าช้าออกไป จำเป็นต้องเร่งการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ยูนิต 4 ในปี 2563 ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ เพื่อรักษาสำรองไฟฟ้าให้อยู่ที่ระดับ 15.1% รวมทั้งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าพระนครเหนือ ยูนิต 2 ในปี 2564 ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ เพื่อรักษาสำรองไฟฟ้าให้อยู่ที่ระดับ 15% เพื่อให้กำลังสำรองไฟฟ้าอยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงนั้น อาจต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เนื่องจากราคา LNG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสะท้อนตามราคาน้ำมันตลาดโลก แต่จะต้องหารือกับ บมจ.ปตท.ในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าก่อนว่าจะสามารถบริหารจัดการนำเข้าจากต่างประเทศได้เพียงพอหรือไม่
นอกจากนี้ ในแผนดังกล่าวจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินจาก 9 โรง เป็น 13 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น
นายณอคุณ กล่าวว่า หลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไปว่าจะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่
ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพีดีพี 2010 ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ดังนี้ 1.โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 4,768 เมกะวัตต์ 2.โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 7,137 เมกะวัตต์ 3.โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 16,000 เมกะวัตต์ 4.โรงไฟฟ้าพลังน้ำ(ปรับปรุงเขื่อนบางลาง และโครงการสูบกลับเขื่อนลำตะคอง) 512 เมกะวัตต์ 5.การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 11,600 เมกะวัตต์ 6.โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ และ 7.โรงไฟฟ้าถ่านหิน 7,200 เมกะวัตต์