วิจัยกสิกรฯคาดจีดีพี Q1/53 โต 6% แต่หวั่นการเมืองเป็นตัวแปรสำคัญฉุดศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 1, 2010 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/53 น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6% ซึ่งดีขึ้นจากไตรมาส 4/52 ที่ขยายตัว 5.8% ซึ่งหากมองในภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.)ของปี 53 ที่มีทิศทางแข็งแกร่งกว่าที่คาด โดยโมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายปี 52 ยังมีต่อเนื่องมายังช่วงไตรมาส 1/53 ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวต่อเนื่องในส่วนของเครื่องชี้ด้านการบริโภค-การลงทุนภาคเอกชน รายได้เกษตรกร การท่องเที่ยว และการส่งออก

โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนก.พ.ขยายตัว 9.7% โดยเฉพาะปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ภาคเกษตรกร และภาวะการจ้างงาน ส่วนดัชนการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 11.4% มีเครื่องชี้หลายรายการ เช่น ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์, การนำเข้าสินค้าทุน, ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และมูลค่าเงินลงทุนของกิจการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน

ส่วนรายได้ภาคการเกษตรเดือน ก.พ.ขยายตัว 23.2% ซึ่งมีทิศทางทีดีขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคาพืชผลที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด ท่ามกลางปริมาณพืชผลในตลาดโลกที่ลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติ ขณะที่ความต้องการในตลาดโลกยังเติบโตตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ภาคการส่งออกยังขยายตัวได้สูงในเดือนก.พ.ที่ 23.5% ซึ่งมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ทำให้ไทยยังเกินดุลการค้าต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรวมกับยอดดุลบริการซึ่งเป็นรายรับจากการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้ไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองที่กลับเข้ามาเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ในช่วงเดือนมี.ค.53 นั้น อาจส่งผลกดดันความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม แต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบอาจอยู่ในช่วง 0.2-1.0% ของจีดีพี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเผชิญหน้าทางการเมือง และยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

"คงไม่สามารถปฏิเสธว่า ปัจจัยการเมืองเป็นประเด็นที่สำคัญต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการผลักดันรายจ่ายในส่วนของโครงการภาครัฐ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ จะยังไม่ส่งผลกดดันทิศทางของเครื่องชี้เศรษฐกิจในประเทศในภาพรวม เนื่องจากการขยายตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจดังกล่าวได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แต่ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศเริ่มกลับมาส่งผลกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคแล้ว โดยสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.พ.53 ที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 78.4 จากระดับ 79.3 ในเดือนม.ค.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ