(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มี.ค.53 เพิ่มขึ้น 3.4%, Core CPI โต 0.4%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 1, 2010 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน มี.ค.53 อยู่ที่ 107.13 เพิ่มขึ้น 3.4% จากเดือน มี.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.23% จากเดือน ก.พ.53 ขณะที่ CPI ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน มี.ค.53 อยู่ที่ระดับ 103.16 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน มี.ค.52 และสูงขึ้น 0.11% จากเดือน ก.พ.53 ขณะที่ Core CPI ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มี.ค.53 อยู่ที่ 120.48 เพิ่มขึ้น 4.4% จากเดือน มี.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.07% จากเดือน ก.พ.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 98.68 เพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือน มี.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ก.พ.53

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลขยังเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากตั้นปี จากที่เดือนม.ค.เงินเฟ้ออยู่ที่ 4.1% และเดือนก.พ.อยู่ที่ 3.7% ซึ่งการเพิ่มขึ้นในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีเสถียรภาพ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลได้ขยายไปบางส่วนถึงเดือนมิ.ย. 53 รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด จึงมีส่วนให้ค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในภาวะที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.ที่สูงขึ้นในนระดับดังกล่าว เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมีผลมาจากปัจจัยสำคัญ คือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารสด และสินค้าอุปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร ผลไม้สด ข้าว ไข่ สัตว์น้ำ ยานพาหนะ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ ผักสด ไก่สด วัสดุก่อสร้างและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 1 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% มีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสดสูงขึ้น 8.2% เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยและทำรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึง 41.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปลัดพาณิชย์ กล่าวว่า การที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับนี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ในแง่ของประชาชนแล้ว พบว่า ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจในรายได้ของตัวเองมากขึ้นส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเป็นไปอย่างปกติ ขณะที่ผู้ผลิตเริ่มมีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น จึงทำให้เกิดการสร้างงานและเพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้น โดยในแง่ของรัฐบาลนั้นเมื่อเครื่องชี้เศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ รัฐบาลควรใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไหลลื่น พร้อมมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้จะเป็นโอกาสให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

"ถ้าเศรษฐกิจโตแบบนี้ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเช่นนี้ คาดว่ากนง. อาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม" นายยรรยง กล่าว

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่า ยังเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก โดยคาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.2% ขณะที่ทั้งปี 53 ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% ภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก คือ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31-33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลขยายมาตรการลดค่าครองชีพต่อไป

แต่อย่างไรก็ดีมองว่า ยังมีตัวแปรสำคัญ นั่นคือ ปัญหาทางการเมือง หากยังไม่ได้ข้อยุติในช่วงสั้นก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ แต่ทั้งนี้จากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันยังไม่ถือว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก โดยราคาสินค้ายังอยู่ในระดับปกติ ความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการ ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ