อินโดนีเซียเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ร่วงสู่ระดับ 3.43% เหตุราคาสินค้าปรับตัวลดลง

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 1, 2010 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อต่อปีของอินโดนีเซียในเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 3.43% ลดลงจากระดับ 3.81% ในเดือนก.พ. และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.75% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ระดับนี้จะเปิดช่องให้ธนาคารกลางตรึงดอกเบี้ยที่ 6.5% ต่อไปในการประชุมสัปดาห์หน้า

โดยสำนักงานสถิติกล่าวว่า ราคาอาหารที่ปรับตัวลดลง คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ระบุว่า "ราคาอาหารเริ่มปรับตัวลดลงเนื่องจากปริมาณสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งภาวะเช่นนี้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในภาวะขาลง"

ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนส.ค.โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อลดอัตราว่างงาน ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นกว่า 9.7% ขณะที่เงินรูเปียห์ในวันนี้เคลื่อนไหวอยู่ที่ 9,075 ต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินโดนีเซียขยายตัวขึ้น 5.4% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และเพิ่มขึ้น 4.5% ในปี 2552 โดยหลายฝ่ายคาดว่าจีดีพีของอินโดนีเซียในปีนี้จะอยู่ที่ 5.5% เนื่องจากการลงทุนและการส่งออกขยายตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมี.ค.ร่วงลง 0.14% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. โดยธนาคารและรัฐบาลตั้งเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ระดับ 5.5-5.7% ภายในสิ้นปีนี้ และเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมิ.ย.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ฟิทช์ อินเวสเตอร์ เรทติ้ง ได้แนะให้อินโดนีเซียใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นระดับการลงทุน ขณะที่ศรี มัลยานี รัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซียยังมีมุมมองในแง่บวกต่อระดับการลงทุนที่คาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ภายใน 1 ปี ส่วนประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน่ตั้งเป้ากระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้ที่ระดับ 7% ในปี 2557 เพื่อลดปัญหาความยากจนและอัตราว่างงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ