ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเงินเฟ้อ H1/53 ยังไม่สร้างแรงกดดันต่อภาวะศก.-ดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 1, 2010 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงในเดือน มี.ค.53 และมีแนวโน้มที่จะชะลอลงต่อเนื่องต่อไปในเดือนเมษายน ขณะที่ภาพรวมทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 53 น่าจะยังคงเป็นระดับที่ไม่สร้างแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญนัก อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ แถลงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน มี.ค.53 ชะลอลงมาอยู่ที่ 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จาก 3.7% ในเดือน ก.พ.53 โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า(MoM) มาอยู่ที่ระดับ 107.13 จาก 106.88 ในเดือนก่อน รวมทั้งยังเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น หลังวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.4% (YoY) จากร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งยังคงอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ 0.5-3.0% สำหรับภาพรวมในไตรมาสที่ 1/53 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ย 3.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงชะลอต่อไปในเดือน เม.ย.โดยอาจจะต่ำกว่า 3% (YoY) แม้การยกเลิกมาตรการค่าน้ำประปาฟรีจะมีผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับขึ้นบ้างก็ตาม ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนเป็นสำคัญ โดยในช่วงเดือนเมษายน 2552 ราคาสินค้าอาหาร ไม่ว่าผักผลไม้และเนื้อสัตว์ ตลอดจนราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (MoM)

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังมีระดับต่ำ แม้ว่าอาจจะเริ่มกลับเข้ามาสู่ภายในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท. แต่คงมีระดับสูงกว่า 0.5% เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าที่ยังมีค่อนข้างน้อย และคาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% (YoY) ในไตรมาส 2/53 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.4% ซึ่งแม้ว่าสูงขึ้นจาก 0.4% ในไตรมาสแรก แต่ก็ยังเป็นระดับที่ไม่สูงกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 1.25% มากนัก

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อ ได้แก่ ทิศทางราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ภายหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น โดยปกติแล้วมักเป็นปัจจัยลบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น ยังต้องติดตามราคาสินค้าเกษตร ซึ่งแม้ขณะนี้ สินค้าบางประเภท เช่น น้ำตาลและข้าว เริ่มชะลอลง แต่ยังต้องดูผลกระทบของภาวะแล้งต่อผลผลิตทางการเกษตรในช่วงต่อไปด้วย

ขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐบาลในการดูแลราคาสินค้า รวมทั้งการช่วยเหลือด้านราคาสาธารณูปโภคและพลังงานก็เป็นตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่ยังคงดำเนินการต่อไป 4 มาตรการ (ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม) ซึ่งจะมีกำหนดสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. รัฐบาลคงจะมีการทบทวนอีกครั้งว่าจะขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 ไว้อยู่ที่ 3.0-4.0% แต่ปรับกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้แคบลงเป็น 1.5-2.0% โดยเป็นการขยับกรอบบนลงมาจากคาดการณ์เดิมที่ 1.5-2.5% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง และอาจกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ผลิตยังพยายามรักษาระดับราคาสินค้าโดยมีการปรับขึ้นในขอบเขตเท่าที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งมีผลของการที่รัฐบาลคงมาตรการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคในหลายส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ