นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกสหกรณ์บัญชีออมทรัพย์ 2,019 ตัวอย่างทั่วประเทศ ในทัศนะเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ : ประกันราคา และการแก้ไขหนี้นอกระบบพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40.5% มองว่านโยบายไทยเข้มแข็งทำให้ได้รับประโยชน์ในระดับปานกลาง ส่วน 20.2% ระบุว่าได้รับประโยชน์น้อย และที่เหลืออีก 15.6% ระบุว่าได้รับประโยชน์น้อยมาก
สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการกระจายรายได้, มีงานทำเพิ่ม และมีสาธารณูปโภคมากขึ้น และให้คะแนนความพึงพอใจของนโยบายไทยเข้มแข็งได้ 5.9 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน และให้คะแนนความสำเร็จของนโยบาย 5.5 คะแนน
ส่วนประเด็นแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนนั้น กลุ่มตัวอย่าง 34% ระบุว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ไขหนี้นอกระบบได้ในระดับปานกลาง ขณะที่ 24.8% ระบุแก้ไขได้น้อย และอีก 23.1% ระบุว่าแก้ไขได้น้อยมาก โดยให้คะแนนความพึงพอใจในนโยบาย 6.3 คะแนน และความสำเร็จของนโยบาย 5.7 คะแนน
ขณะที่นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรนั้น กลุ่มตัวอย่าง 49.1% มีความพอใจมากกว่าโครงการรับจำนำ ส่วนอีก 29% พอใจเท่ากันทั้ง 2 โครงการ และอีก 21.9% พอใจโครงการรับจำนำมากกว่า พร้อมกับให้คะแนนความพึงพอใจที่ 6.2 คะแนน และความสำเร็จของนโยบาย 5.8 คะแนน
สำหรับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 85.5% ระบุว่าได้รับผลกระทบแล้ว เพราะทำให้รายได้จากการทำการเกษตรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาลดลงมาก และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เช่น จัดหาอาชีพเสริมให้เกษตรกร, จัดหาพืชปลูกทดแทนการทำนาในพื้นที่ประสบภัยแล้ง, สนับสนุนทุน, ลดดอกเบี้ยเงินกู้, พักหนี้เกษตรกร และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐเลย
"การสำรวจนโยบายของรัฐเป็นการสำรวจเบื้องต้นในกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งโดยรวมจะเห็นว่านโยบายรัฐบาลมีคะแนนประเมินที่เกินครึ่งเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างพอใจนโยบายของรัฐบาลเพียงปานกลางเท่านั้น" นายธนวรรธน์ กล่าว