วิจัยไทยพาณิชย์คาดกนง.ยังไม่ขึ้นดบ.ในเม.ย.นี้ หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 2, 2010 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ที่ 3.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอัตราที่เริ่มชะลอตัวลงนั้น จึงไม่จำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 21 เม.ย.นี้
"อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง ไม่เป็นแรงกดดันให้ ธปท. ต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

จากการส่งสัญญาณของ ธปท.อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% ในปัจจุบันนั้นต่ำมากจึงต้องการปรับขึ้นแต่ต้องดูเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับการวิเคราะห์ของ (SCB EIC) ว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วง 2 เดือนแรกบ่งบอกว่า GDP ไตรมาส 1/53 น่าจะออกมาดี ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้ ธปท.ใช้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.นี้ได้

แต่อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งหมดตลอดปี 53 ประมาณ50-75 bps

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) ในเดือนมี.ค.53 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.4% นั้นเป็นไปตามคาด โดยอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้การลดลงดังกล่าวเกิดจากการที่เงินเฟ้อในส่วนของราคาอาหารสดลดลงจากจาก 9.9% ในเดือน ก.พ. มาเหลือ 8.5% ในเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ เงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ยังคงต่ำหลุดกรอบเป้าหมายของ ธปท. โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.3% ในเดือน ก.พ.มาอยู่ที่ 0.4% ในเดือน มี.ค.แต่ยังคงต่ำหลุดกรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ต้องการให้เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ระหว่าง 0.5% - 3.0%

โดยราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้าซึ่งเคยเป็นปัจจัยให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเริ่มชะลอลงในเดือนมี.ค. ดัชนีราคาอาหารสดที่เคยขยายตัวด้วยอัตราสูงถึง 2.9% ในเดือน ก.พ.กลับมาปรับตัวลดลง -0.03% ในเดือน มี.ค.ซึ่งเกิดจากการที่ราคาเป็ด ไก่ ผักและผลไม้ในเดือน มี.ค.ลดลงจากเดือนก่อนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ