นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปแถลงการณ์การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง(the MRC Hua Hin Declaration)ในนามผู้นำของประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทยว่า ทุกประเทศจะใช้โอกาสนี้ร่วมมืออย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นทั้งกับมิตรประเทศในภูมิภาคและประเทศพันธมิตรในโลก เพื่อผ่านแผนยุทธศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้กำหนดไว้ในปี 2554-2558 (MRC’s Strategic Plan 2011—2015) ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมที่แข็งขันต่อไปอย่างต่อเนื่อง
"ความสำเร็จของการลงนามความตกลงลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อปี 1995 ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกต่างตระหนักถึงความเป็นเจ้าของร่วมกันของที่เพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อควบคุมการบริหารจัดการ MRC ให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้องค์ความรู้จาก River Basin Organisation และแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ รวมทั้งเพิ่มระดับความร่วมมือภายใต้กรอบ Dialogue Partner โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูแล้ง นอกจากนี้ การสนับสนุนจากพันธมิตร องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ และกลุ่มประเทศพันธมิตร MRC’s Development Partner" นายกฯ ระบุ
สิ่งที่จะต้องดำเนินการในลำดับแรกๆ คือ การส่งเสริมความร่วมมือสำหรับปีต่อๆไป เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อทุกส่วนอย่างเท่าเทียม เลี่ยงความเสี่ยงจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์หรือภัยธรรมชาติ ที่อาจส่งผลกระทบที่เลวร้าย รวมถึงการดูแลรักษาทรัพยากรชีวภาพที่ทรงคุณค่าในลุ่มน้ำ โดยสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้เชื่อมโยงข้อปฎิบัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาร่วมอยู่ดำเนินการด้วย พร้อมๆ ไปกับขยายความร่วมมือกับพันธมิตรคู่เจรจาหุ้นส่วนในการพัฒนา และข้อต้อนรับประเทศ ชายฝั่งอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง MRC ในอนาคตด้วย
สำหรับในอนาคตนั้น ประเทศสมาชิกยังยืนยันถึงความร่วมมือและเจตนารมณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินการตามข้อตกลงลุ่มน้ำโขง และจะมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น พร้อมๆ ไปกับส่งเสริมความพยายามในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง เพื่อการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในลุ่มน้ำ
เช่นเดียวกับข้อริเริ่มการรวมตัวกันของอาเซียน ที่ประชุมได้ย้ำความจำเป็นในการจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากร การจัดหาทุนเพื่อส่งเสริมศักยภาพของประเทศสมาชิกที่ความยากจนและความจำเป็นทางเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้ว่าเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะมีการเติบโตอย่างชัดเจน ก็ยังมีหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2030
พร้อมกันนี้ นายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบที่จะกำหนดให้มีการจัดการประชุมสุดยอดลุ่มน้ำโขงในทุกๆ 4 ปีด้วย