นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยประจำไตรมาส 1/53 พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 59.0 สูงที่สุดเท่าที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เคยจัดทำมา และสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน มีค่าเท่ากับ 57.8 ขณะที่ไตรมาส 1/52 อยู่ที่ระดับ 42.2
ทั้งนี้ ผลการสำรวจมีผู้ประกอบการจำนวน 165 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 28 บริษัท และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 137 บริษัท
การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีดังกล่าวเนื่องจากมุมมองในเชิงบวกทั้งผลประกอบการ การลงทุน การจ้างงาน และการเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากมาตรการการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้ซื้อเร่งโอนกรรมสิทธิ์เป็นจำนวนมาก
สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อในช่วงเดือนมี.ค. ธอส.มียอดปล่อยสินเชื่อ 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลได้ต่ออายุมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ผลประกอบการช่วงครึ่งแรกปี 53 ของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์จะขยายตัวได้ดีขึ้น หลังจากที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะมีการทำยอดปิดงบในช่วงไตรมาส 2/53
ส่วนช่วงไตรมาส 3/53 คาดว่าธุรกิจจะเริ่มชะลอตัวลงเพราะมาตรการรัฐได้หมดอายุลง และจะไปขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/53 ตามภาวะการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ
ขณะที่ดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าประจำไตรมาส 1/53 อยู่ที่ระดับ 63.4 โดยปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่แล้วที่มีค่าเท่ากับ 70.4 ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 50.4 โดยแบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนมีค่าดัชนีความคาดหวังอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 70.5 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่แล้วที่มีค่าเท่ากับ 76.5 ขณะที่บริษัทไม่ได้จดทะเบียนมีค่าดัชนีความคาดหวังอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 56.3 ลดลงจากไตรมาสที่แล้วที่มีค่าเท่ากับ 64.4
"ดัชนีความคาดหวัง 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมากพอสมควรเนื่องมาจากผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยได้คาดการณ์ว่าจะมีปัจจัยลบต่อตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะไม่ทราบว่ารัฐบาลจะมีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.53 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค.53 รวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็กในตลาดโลกทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศยังมีแนวโน้มที่เริ่มรุนแรงขึ้น" นายขรรค์กล่าว
ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานสำหรับไตรมาส 1/53 อยู่ที่ 127.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าดัชนีไตรมาส 4/52 อยู่ที่ 125.9 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับค่าดัชนีในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 127.9 โดยหมวดงานก่อสร้างที่นำมาใช้คำนวณมี 5 หมวด ได้แก่ หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง สถาปัตยกรรม ระบบสุขาภิบาล ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร
ขณะที่ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามทิศทางราคาเหล็กในตลาดโลก แต่การแข่งขันทางธุรกิจและค่าแรงขั้นต่ำเป็นปัจจัยที่ทำให้ดัชนีดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก
ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่สำหรับงวดเดือน ม.ค.53 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด ทั้งแนวราบและห้องชุด คอนโดฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 6,000 หน่วย แบ่งได้เป็นอาคารชุด 2,400 หน่วย คิดเป็น 40% ในจำนวนนี้เป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรจากการเคหะแห่งชาติ 850 หน่วย บ้านเดี่ยว 2,050 หน่วย คิดเป็น 34% ทาวน์เฮ้าส์ 1,300 หน่วย คิดเป็น 22% อาคารพาณิชย์ 50 หน่วย คิดเป็น 1% และบ้านแฝด 200 หน่วย คิดเป็น 3% โดยที่อยู่อาศัยที่มีสถิติการสร้างเสร็จจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทาวน์เฮ้าส์ที่มีจำนวนมากขึ้นจากเดือนก่อน 130% เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 427%
5 เขตที่มีที่อยู่อาศัยแนวราบสร้างเสร็จจดทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ เทศบาลตำบลบางเมืองสมุทรปราการ เขตมีนบุรี บางเขน อำเภอปทุมธานี และเทศบาลนครนนทบุรี ส่วน 5 เขตที่มีอาคารชุดสร้างเสร็จจดทะเบียนมากที่สุดได้แก่ เขตดุสิต อำเภอบางพลี เขตพระโขนง เขตคลองสาน และอำเภอคลองหลวง
สำหรับที่อยู่อาศัยที่โอนกรรมสิทธิ ช่วง2 เดือนแรกปี 53 (ม.ค.-ก.พ.53) มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 31,568 หน่วย เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นการโอนที่อยู่อาศัย 23,363 แปลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14% ขณะที่การโอนอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยจำนวน 8,205 แปลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4%
อย่างไรก็ดี มูลค่าการโอนกรรมสิทธิอสังหาฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 53 มีจำนวน 88,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นการโอนที่อยู่อาศัย 49,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการโอนอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ คิดเป็นจำนวน 38,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 75%