นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2553 มีจำนวน 4,001,841 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.23 ของ GDP
หนี้สาธารณะดังกล่าว เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,643,728 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,093,441 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 190,037 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 74,635 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 34,360 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 55,602 ล้านบาท สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 4,842 ล้านบาท 8,397 ล้านบาท และ 8,003 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง
การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 55,602 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากรัฐบาลได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 39,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 1 จำนวน 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล ที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) ที่ครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีขั้นตอนการออกพันธบัตรไปชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้นและเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (FIDF1 และ FIDF3) ที่ใช้เป็น Bridge Financing ในการปรับโครงสร้างหนี้ ในระหว่างพฤศจิกายน 2552-มกราคม 2553 โดยมีการทยอยออกพันธบัตร ในเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 8,000 ล้านบาท เดือนธันวาคม 2552 จำนวน 7,000 ล้านบาท และเดือนมกราคม 2553 จำนวน 15,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินลดลงสุทธิ 4,482 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงสุทธิ 8,397 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน รายการที่สำคัญเกิดจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น จำนวน 19,180 ล้านบาท
หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 8,003 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการซื้อคืนพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
หนี้สาธารณะ จำนวน 4,001,841 ล้านบาท หากแยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 369,014 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.22 และหนี้ในประเทศ 3,632,827 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.78 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,746,313 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.61 และหนี้ระยะสั้น 255,528 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.39 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง