อากาศร้อนจัด-ศก.ฟื้นส่งผลยอดใช้ไฟ Peak แล้ว 8 ครั้ง มีโอกาสเกิดอีก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้ยอดใช้ไฟฟ้าปีนี้ทำสถิติมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(Peak) แล้วถึง 8 ครั้ง และสูงกว่าประมาณการในแผนพีดีพีฉบับเดือน ก.พ.ถึง 4.58%

"Peak ที่เกิดขึ้นขณะนี้สูงกว่าประมาณการในค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสำหรับจัดทำแผน PDP 2010 ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่พยากรณ์ไว้เท่ากับ 22,690 เมกะวัตต์ ถึง 4.58 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและการใช้ไฟฟ้าในภาค อุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว" นายพงษ์ดิษฐ พจนา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ.กล่าว

สถิติการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในช่วงฤดูร้อนปี 53 พบว่า Peak เมื่อวันที่ 6 เม.ย.เท่ากับ 23,730.21 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติปี 52(24 เม.ย.52 เท่ากับ 22,044.9 เมกะวัตต์) ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 8 ของปีนี้แล้ว หลังเกิด Peak ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.เท่ากับ 22,185.8 เมกะวัตต์ และเกิดขึ้นอีก 6 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.เท่ากับ 22,406.40 เมกะวัตต์, วันที่ 8 มี.ค.เท่ากับ 22,542.20 เมกะวัตต์, วันที่ 9 มี.ค.เท่ากับ 22,649.78 เมกะวัตต์, วันที่ 16 มี.ค.เท่ากับ 23,143.26 เมกะวัตต์, วันที่ 25 มี.ค.เท่ากับ 23,304.05 เมกะวัตต์ และวันที่ 5 เม.ย.เท่ากับ 23,529.69 เมกะวัตต์

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ.กล่าวว่า ช่วงนี้ยังเป็นเพียงต้นเดือน เม.ย.ดังนั้นยังมีโอกาสที่จะเกิด Peak ได้อีก จึงขอให้ประชาชนช่วยกันใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามากจนทำให้เกิด Peak ในรอบวัน ได้แก่ ช่วงเวลา 14.00-15.30 น. และ 19.00-21.00 น.ด้วยการเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศควรมีการล้างทำความสะอาดในช่วงหน้าร้อน ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านลดลง และช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้อีกด้วย

ส่วนกรณีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากพม่าของ บมจ.ปตท.(PTT) นั้น ขณะนี้ได้มีการจ่ายก๊าซฯ เข้าระบบแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้คือ ระหว่างวันที่ 23 มี.ค.-1 เม.ย.53 และกรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ แม้ว่าจะเป็นในช่วงที่มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ขณะเดียวกัน กฟผ.ได้จัดการเรื่องการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนก๊าซฯ ลดลงตามไปด้วย โดยตามแผนบริหารฯ ต้องใช้น้ำมันเตา 128 ล้านลิตร แต่ใช้จริงเพียง 80 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันดีเซล ใช้เพียง 10.5 ล้านลิตร จากแผนบริหารฯ จะต้องใช้ 16 ล้านลิตร ซึ่งทำให้ไม่กระทบต่อต้นทุนค่าเชื้อเพลิงมากนัก คิดเป็นใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 770 ล้านบาท

สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ. กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวอยู่ห่างจากเขื่อนบางลาง 624 กิโลเมตร(ก.ม.) และเขื่อนรัชชประภา 757 ก.ม. ดังนั้นจะไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. รวมถึงเขื่อนทั้งสองยังมีความมั่นคงแข็งแรง โดยจากการตรวจสอบเครื่องมือวัดอัตราเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวที่ติดตั้งไว้ทั้ง 2 เขื่อนไม่พบแรงกระทำจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาถึงเขื่อนสูงกว่า 0.001g ขณะที่เขื่อนทุกแห่งของ กฟผ.ถูกออกแบบให้รับแรงแผ่นดินไหวได้ 0.1g และ กฟผ.ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยอย่างใกล้ชิดโดยไม่ประมาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ