นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.53 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 69.8 ลดลงจากเดือน ก.พ.53 ซึ่งอยู่ที่ 70.9 และลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 68.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 93.5
ปัจจัยลบที่สำคัญ คือ การชุมนุมทางการเมืองที่แม้จะยังไม่มีความรุนแรงแต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศ, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้า, ความกังวลต่อปัญหาชะลอการลงทุนในโครงการมาบตาพุด และ ความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ปรับคาดการณ์ GDP ปี 53 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5% จากเดิม 3.5%, การส่งออกในเดือนก.พ.53 โต 23.5%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25%, เม็ดเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเริ่มลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ และภาวะเงินบาทที่แข็งค่า เป็นต้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมี.ค. มาจากความกังวลปัญหาการเมืองเป็นหลัก หากการชุมนุมยิ่งยืดเยื้อ จะยิ่งบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่การสำรวจครั้งนี้ยังไม่รวมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์และการประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทั้ง 2 สถานการณ์ ประกอบกับการชุมนุมที่ยังยืดเยื้อต่อไปอีก น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย.จะลดลงต่ออีก เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะบั่นทอนจิตวิทยาการบริโภคและท่องเที่ยวมาก
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าห่วงอีกประการ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะทะลุ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ และส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศเกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งจะเกินระดับจิตวิทยาของผู้บริโภค ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งรับมือปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เช่น ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตต่อไปได้
"ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขึ้นอยู่กับปัญหาการเมืองเป็นหลัก โดยจะเห็นได้จากในไตรมาส 1 ปีนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะประชาชนรับรู้ได้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และการเมืองยังไม่รุนแรง" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หากปัญหาการเมืองสามารถจบลงได้ภายในสิ้นเดือนเม.ย. หรือต้นเดือนพ.ค. ก็เชื่อว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะฟื้นกลับมาได้เร็ว และเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังโตได้ที่ 4-5% แต่หากการเมืองยืดเยื้อยาวนานเศรษฐกิจอาจจะโตได้ 3-4% เท่านั้น