นางจิตติมา ดุริยะประพันธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.จะจัดโครงการ“รักษ์ธนบัตรไทย"เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้ธนบัตรอย่างถูกวิธี ซึ่งจะทำให้ธนบัตรหมุนเวียนมีสภาพดี สามารถสังเกตได้ง่ายว่าเป็นธนบัตรจริงหรือธนบัตรปลอม และยังช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศในการผลิตธนบัตรใหม่ด้วย
และเพื่อให้ประชาชนเริ่มมีส่วนร่วมกับโครงการ“รักษ์ธนบัตรไทย"อย่างกว้างขวาง ธปท. จึงจัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์และคำขวัญโครงการ“รักษ์ธนบัตรไทย"ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อได้มาซึ่งตราสัญลักษณ์และคำขวัญ ที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชน ตระหนักในคุณค่าและมีจิตสำนึกในการใช้ธนบัตรอย่างทะนุถนอม ถูกวิธี และเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการในระยะต่อไป
ผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท และ ผู้ชนะเลิศการประกวดคำขวัญจะได้รับเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท โดย ธปท.ได้เชิญผู้ทรงวุฒิด้านศิลปะและสื่อสารมวลชนจากภายนอกเป็นคณะกรรมการตัดสิน ผู้สนใจสามารถส่งผลงานด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ได้ที่ตั้งแต่บัดนี้-31 พ.ค.53 และจะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประกวดภายในวันที่ 18 มิ.ย.53
นางจิตติมา กล่าวว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 5-7% ต่อปี โดยในปี 47 ธปท. ผลิตธนบัตรใหม่เพียงประมาณ 2,050 ล้านฉบับ แต่ในปี 52 ธปท. ผลิตธนบัตรใหม่สูงถึงประมาณ 2,750 ล้านฉบับ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และชดเชยธนบัตรที่ถูกทำลาย
ทั้งนี้ในปี 47 ธปท.ทำลายธนบัตรประมาณ 2,050 ล้านฉบับ และในปี 52 ทำลายธนบัตรเพิ่มเป็นประมาณ 2,750 ฉบับ ซึ่งธนบัตรที่ถูกทำลายนี้นอกจากเป็นธนบัตรที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ยังมีจำนวนไม่น้อยเป็นธนบัตรที่เกิดจากการใช้ธนบัตรอย่างผิดวิธีไม่เหมาะสม เช่นการขีดเขียน ขยำ หรือประทับตราลงบนธนบัตร ทำให้ธนบัตรมีอายุการใช้งานสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น