นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ หากไม่มีการใช้ความรุนแรง
แต่ยอมรับว่าความเสียหายจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อมีผลกระทบที่ต่อเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น เพราะจากเดิมคาดว่าจะจบภายใน 1 เดือน หรือก่อนสงกรานต์ แต่นี่อาจจะขยายเป็น 2 เดือน ซึ่งสร้างความเสียหายเพิ่มจาก 21,000-38,000 ล้านบาท เป็น 40,000-70,000 ล้านบาท กระทบจีดีพีจาก 0.1-0.2% เพิ่มเป็น 0.3%
ทั้งนี้ ถ้าการชุมนุมมีต่อเนื่องไปถึง 3 เดือน จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 70,000-100,000 ล้านบาท กระทบจีดีพีเป็น 0.3-0.5% ทันที
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลงมากไปกว่าเดิม และไม่เกิดความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็ต้องติดตามว่าจะทำให้เหตุการณ์ต่างๆ จะยุติลงได้หรือไม่ ที่แน่นอนคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เพราะทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจความปลอดภัยเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่วนภาคการค้าจะทำให้ผู้ค้าต่างชาติไม่กล้าเดินทางเข้ามา
"หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะ 2 ข้อ คือ ให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ควรเร่งหาทางเจรจาแก้ไขปัญหาเพื่อให้ยุติโดยเร็ว และขอให้ประชาชนไทยทุกคนเคารพกฎหมาย เพื่อความสงบสุขของประเทศ" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการค้า ทั้งธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ธุรกิจขนาดใหญ่ และประชาชนทั่วไปทุกระดับแล้ว โดยภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากสุดเสียหายวันละ 200-500 ล้านบาท ส่วนภาคธุรกิจค้าขายในประเทศเสียหายวันละ 500-800 ล้านบาท สำหรับการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ส่งผลกระทบต่อธุรกิจใกล้เคียงวันละ 200-500 ล้านบาท