สศค.คาดเหตุเมษาเลือดกระทบจีดีพี 0.2-0.5% หวั่นมูดี้ส์ปรับลดเครดิตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 12, 2010 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า จากเหตุการณ์ปะทะกันของเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 21 ราย ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

ด้านเศรษฐกิจในระยะสั้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก รวมทั้งในส่วนของการบริโภคที่มีการปิดพื้นที่บางจุดซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ ระยะสั้นมองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น คาดว่าจะกระทบการเติบโตเศรษฐกิจไทยลดลง 0.2-0.5%

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า มีความเป็นห่วงปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางในเรื่องการลงทุนโดยตรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่าได้ทำลายบรรยากาศการลงทุนได้ และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทำให้มีการชะลอการลงทุนลงทั้งนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ และจะมีผลกระทบต่อเนื่องทั้งด้านแรงงาน การลงทุนเครื่องจักรต่างๆ ที่ต้องชะลอลงตาม ขณะที่ช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น การลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก

และในกลางเดือน พ.ค.นี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จะเข้ามาเก็บข้อมูลของประเทศไทย เพื่อทบทวนอันดับเครดิตของประเทศประจำปี ซึ่งหากมูดี้ส์ฯปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือของไทยจะมีผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งในแง่การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศทั่วโลก และต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลที่จะสูงขึ้น

ล่าสุด สถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ จากญี่ปุ่น Japan Credit Rating Agency,Ltd.(JCR)ได้ประกาศปรับลดเครดิตของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของไทย 1 ขั้น จากระดับ A+ มาอยู่ที่ระดับ A ซึ่งทำให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้น แต่ JCR จะมีผลต่อนักลงทุนของญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่แต่ กรณีมูดี้ส์ หรือ แสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์(เอสแอนด์พี)จะมีผลต่อนักลงทุนในวงกว้างมากกว่า

"กรณีของมูดี้ส์ ซึ่งจะเข้ามาประเมินเศรษฐกิจไทยประจำปีในกลางเดือน พ.ค.นี้ หากประเมินเครดิตไทยลดลง ย่อมมีผลกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องรีบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีอีกหลายสถาบันที่จะเข้ามาทบทวนเครดิตประเทศเช่นกัน ซึ่งยอมรับว่าตอนนี้ความเสี่ยงของประเทศสูงขึ้น" นายเอกนิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สศค.ยังไม่มีการทบทวนเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยทั้งปี ที่คาดว่าจะเติบโต 4-5% แต่ยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป

"ตอนนี้รอดูตัวเลขข้อมูลเดือนเม.ย.หลังเกิดการชุมนุมมีการปิดสถานที่หลายแห่ง และเมื่อเกิดเหตุปะทะกัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากชัดเจนในเชิงเศรษฐกิจ ส่วนภาคต่างประเทศ อาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้นในเดือน เม.ย.จากปัจจุบันก็เกินดุลมาอยู่แล้ว และอาจทำให้เงินบาทที่แข็งค่า กลับมาอ่อนค่าเล็กน้อย" นายเอกนิติ กล่าว

ทั้งนี้ สศค.ประเมินผลกระทบต่อการชุมนุมทางการเมือง ใน 3 กรณี คือ หากมีการชุมุนมยืดเยื้อ แต่ไม่รุนแรง จะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย 0.2% แต่หากชุมนุมยืดเยื้อเกิน 6 เดือน และมีเหตุการณ์ความรุนแรงเล็กน้อย จะกระทบเศรษฐกิจไทย 0.5% และสุดท้าย หากไม่มีรัฐบาล มีอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบาย ไม่มีงบประมาณใหม่ๆ และอาจมีผลต่อการส่งออก คาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทย 0.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ