ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.) นัดหารือเพื่อประเมินแนวทางการแก้ไขปัญหาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แนวทางการดำเนินการด้านการลงทุนของไทยในอนาคต และปัญหาผลกระทบทางการเมืองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในวันที่ 19 เม.ย.นี้
"ถึงตอนนั้นยังไม่รู้ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรบ้างก็เลยยังไม่มั่นใจว่าการประชุม กรอ.จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เมื่อถึงเวลานั้น แต่เบื้องต้นกำหนดไว้วันที่ 19 เมษายนนี้" นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าว
รักษาการประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า รัฐบาลพยายามกำหนดกติกาการแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร แต่ยอมรับขณะนี้มีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง
"ยังไม่รู้ว่าปัญหาทางการเมืองจะจบเมื่อไหร่ หลังสงกรานต์แล้วจะรุนแรงหรือไม่ หากยืดเยื้อและรุนแรงเช่นที่เกิดอยู่ไม่จบสิ้น ความเชื่อมั่นจะยิ่งจะถดถอยหนักทำให้ไทยเสียโอกาสต่อบรรยากาศลงทุนที่ฟื้นตัว" นายสันติ กล่าว
รักษาการประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มที่ดีจากคำสั่งซื้อของหลายสินค้าที่ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยคำสั่งซื้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแล้วปีนี้ 20-30% ยกเว้นการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ขณะที่ภาคการเกษตรราคาพืชผลรวมยังทรงตัวระดับสูง แต่อาจจะมีปัญหาภัยแล้งเข้ามา จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีพายุฤดูร้อนเข้ามาช่วยมากน้อยเพียงใด ทำให้ขณะนี้ยังยากที่จะประเมินความเสียหายจากภัยแล้งในเบื้องต้นได้
โดยปัจจัยที่ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวมาจากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย อาเซียน แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปอาจเกิดปัญหาแต่หากเศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆ ดีขึ้นก็ไม่น่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมากนัก อย่างไรก็ตามเงินทุนที่ไหลเข้ามาก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รักษาการรองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ที่ประชุมฯ จะสรุปภาพรวมการแก้ไขปัญหามาบตาพุดและความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ทั้งขั้นตอนการช่วยเหลือภาคเอกชนในการขอให้ศาลผ่อนผัน รวมทั้งขั้นตอนการจัดตั้งองค์การอิสระ และการกำหนดกิจการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2
"คิดว่าปัญหามาบตาพุดจะมีภาพที่คลี่คลายขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้มีคำสั่งระงับ 76 กิจการและมีการปลดล็อคไปพอสมควร และมีกิจการที่ส่วนหนึ่งศาลได้ให้ก่อสร้างต่อไปได้ ความกังวลใจของนักลงทุนในเรื่องของระเบียบกติกาจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่เริ่มมีการใช้ความรุนแรงกันทำให้ไทยเริ่มถูกจับตาใกล้ชิดซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่น ซึ่งหากจบได้เร็วก็ไม่น่าจะกระทบมาก แต่หากยืดเยื้อและยังคงมีภาพรุนแรงต่อไปก็ย่อมจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุน" นายพยุงศักดิ์ กล่าว