นายแบงก์ มองกนง.21 เม.ย.ยังไม่ขึ้นดบ. วิกฤติการเมืองมีผลให้ชะลอออกไป

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 16, 2010 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการ นายแบงก์ เชื่อ หลังเกิดเหตุปะทะของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง อาจส่งผลทำให้การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชะลอออกไปเป็นช่วงปลายไตรมาส 3/53 ถึงต้นไตรมาส 4/53 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 2/53 เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นจากปัญหาการเมือง แต่โดยรวมเชื่อว่าในปีนี้ กนง.จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์" ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 21 เม.ย.53 เชื่อว่า กนง.จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ต่อไป แม้ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจ และเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านปรับตัวในทิศทางที่แข็งแกร่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ และน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/53 เติบโตได้ถึง 8-9%

ทั้งนี้เดิม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3/53 แต่หลังจาก ธปท.ได้ออกมาส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้คาดว่า กนง.น่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ แต่ขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงจากการเมืองที่เกิดความรุนแรง ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุติได้เมื่อไร จึงเป็นเรื่องที่ยากต่อการประเมิน

"นักลงทุนในตลาด เคยคาดการณ์ว่า กนง.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือน เม.ย.นี้ แต่มองว่าน่าจะเร็วไป โดยเฉพาะตอนนี้มีความเสี่ยงจากการเมืองเข้ามาอีก ซึ่งมีผลต่อการประชุม กนง.ที่จะมีการประเมินผลจากการเมืองที่เกิดขึ้น" นางสาวเกวลิน กล่าว

นางสาวเกวลิน กล่าวว่า ยังมีแรงกดดันที่อาจทำให้ กนง.ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ คือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอยู่ใกล้เคียงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ทั้งนี้คงต้องผลประเมินผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ คาดว่า กนง.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% เป็น 2% โดยที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะเติบโตในอัตรา 3.5-6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) เฉลี่ยปีนี้ คาดว่าอยู่ที่ 3-4% และเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.5-3% แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไป และเป็นเรื่องยากที่จะสามารถคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

"ตอนนี้มีความไม่แน่นอนสูง อาจจะมีโอกาสที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยตามที่เราคาดการณ์ไว้ หรืออาจจะน้อยกว่า หาก impact ทางการเมืองแรง อาจเสี่ยงต่อการขึ้นดอกเบี้ยทั้งปีอาจไม่มาก" นางสาวเกวลิน กล่าว

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ว่าแม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างมากมีลดลงเมื่อเวลาผ่านไป การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่สภาวะที่เป็นปกติมากขึ้น เพื่อปรับสมดุลนโยบายการเงินและหลีกเลี่ยงโอกาสที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะไม่สมดุลในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ

แต่จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหากทำเร็วเกินไป อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวให้มีโอกาสกลับสู่ภาวะชะงักงันหรือชะลอตัวลง โดยเฉพาะหากการเมืองสร้างความสูญเสียอย่างมากต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายภายในประเทศ หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับต่ำต่อเนื่องในอีก 1-2 ไตรมาส ก็ยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยเร่งด่วนที่ต้องเข้าจัดการดูแลในทันที

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กนง.น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ 1.25% ในการประชุมวันที่ 21 เม.ย.53 และรอดูผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจก่อนที่จะเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ในการทยอยถอยออกจากนโยบายผ่อนปรนเป็นพิเศษ

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น คงจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยแม้ว่าเงินบาทอาจยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่ยุติ ผนวกกับความเป็นไปได้ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะถูกเลื่อนออกไป แต่เงินบาทก็อาจจะได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลังจากที่ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียทยอยเพิ่มความเข้มงวดต่อการดำเนินนโยบายการเงินของตน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับเพิ่มค่าเงิน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เม.ย.53 ธนาคารกลางสิงคโปร์มีมติปรับเพิ่มค่ากลางของช่วงการปรับตัวของเงินดอลลาร์สิงคโปร์

และ สภาวะแวดล้อมดังกล่าว คาดว่าอาจจะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าด้วยกรอบความเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้นในระยะเวลาต่อจากนี้ แม้อาจมีอัตราการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอัตราการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คงจะมีผลต่อแนวโน้มการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในสาขาที่มีธุรกิจอยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือมีเครือข่ายธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจในย่านดังกล่าว อาทิ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจค้าปลีก ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งคงจะต้องมีการประเมินผลกระทบทางการเมืองต่อแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งในด้านจุลภาค คือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผู้ประกอบการแต่ละรายซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในแง่ของกระแสเงินสด คุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนความต้องการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อ รวมไปถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคหรือแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม ที่อาจชะลอตัวลงจากการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค เป็นต้น

และหากสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อออกไป แผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งการรุกสินเชื่อและการดึงเงินฝากเพื่อเตรียมขยายธุรกิจในปีนี้ อาจจะต้องถูกทบทวนในระยะถัดไป หรือหมายความว่า การแข่งขันกันสู้ราคาในด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ที่เดิมอาจจะมีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คงจะเริ่มบรรเทาเบาบางลงนับจากนี้จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองจะเริ่มคลี่คลายลง ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์น่าที่จะยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาด ก็ตาม

ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น จังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการที่มีแนวโน้มเลื่อนออกไป น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการแสวงหาเงินลงทุน เพราะทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีแนวโน้มไม่ปรับขึ้นมาก น่าจะเอื้อต่อการออกหุ้นกู้เอกชนด้วยต้นทุนการระดมทุนที่ไม่แพงมากนัก

สำหรับผู้ออม ทางเลือกการออมที่เสนอผลตอบแทนจูงใจ อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง หุ้นกู้เอกชนที่มีฐานะการเงินมั่นคง กองทุนรวมต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ น่าจะยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้ออมเงิน ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปยังมีแนวโน้มยืนที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง

นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ เชื่อว่า กนง.วันที่ 21 เม.ย.นี้ จะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งจากปัจจัยการเมืองขณะนี้ จะต้องมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ก นง.อาจต้องขยายเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะ แต่เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสุงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ซึ่งมองว่า กนง.คงจะต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ แต่เป็นการทยอยปรับขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของฝ่ายวิจัย BBL เดิมคาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสปลาย 2/53 ถึงต้นไตรมาส 3/53 แต่จากปัจจัยกดดันทางการเมือง น่าจะทำให้ต้องชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นช่วงปลายไตรมาส 3/53 ถึง ต้นไตรมาส 4/53 โดยทั้งปี คาดว่า น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรวม 0.50% ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 3.5-4% และเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3-5% เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.5-2%

"คิดว่าปีนี้ กนง.คงต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากเศรษฐกิจฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่คงไม่ขึ้นแรง แต่เป็นการทยอยปรับขึ้น เหมือนในต่างประเทศที่ทยอยปรับขึ้นเพื่อรอดูสถานการณ์...การเมืองที่เกิดขึ้นหลักๆ ก็กระทบท่องเที่ยว คล้ายๆ เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว รวมถึงกระทบความเชื่อมั่น กระทบแผนการลงทุนในบางเซ็คเตอร์บ้าง แต่หากการเมืองสงบเชื่อว่าทุกอย่างจะฟื้นเร็ว" นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ