หยาว เจียน โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยว่า สำนักงานต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงกำลังวิจัยอยู่ว่า การใช้กลไกตั้งราคาของบริษัทเหล็กรายใหญ่ของโลกทั้ง 3 รายนั้นเป็นการดำเนินการที่ผูกขาดหรือไม่ หลังจากที่บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง วาเล, ริโอ ทินโต และบีเอชพี บิลลิตัน ได้ประกาศใช้กลไกตั้งราคาแบบใหม่ในปีนี้
ทั้ง 3 บริษัท ซึ่งมีสัดส่วนในการขนส่งสินแร่เหล็กทั่วโลกเกือบ 70% ประกาศว่าจะยกเลิกสัญญาซื้อขายแร่เหล็กแบบเก่าที่มีการตรึงราคาแร่เหล็กเป็นรายปี และหันมาใช้สัญญาฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาสั้นกว่าแทน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผู้จัดการบริษัท จีกัง กรุ๊ป กล่าวว่า การขึ้นราคา 80-90% ของยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 รายภายใต้กลไกการตั้งราคาใหม่นี้ จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโรงงานเหล็กของจีนที่สามารถอยู่รอดได้ด้วยกำไรเพียงน้อยนิด
กำไรเพียงน้อยนิดของโรงเหล็กเหล่านี้สวนทางกับกำไรของซัพพลายเออร์สินแร่เหล็กที่สามารถทำกำไรได้ถึง 50% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงของการเอาตัวรอด
ด้านผู้จัดการโรงเหล็กที่รัฐบาลเป็นเจ้าของอีกรายกล่าวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ 3 รายมีอำนาจเด็ดขาดในการตั้งราคาสินแร่เหล็ก ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้สินแร่เหล็กรายใหญ่สุดของโลก และประเทศผู้ซื้อรายอื่นๆไม่มีโอกาสต่อรองราคามากนัก
ซู เซียงชุน หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Mysteel.com กล่าวว่า หากทั้ง 3 รายยังคงขึ้นราคาต่อไปด้วยการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่คล้ายกับการผูกขาดแล้ว จีนก็อาจจะหาช่องทางพึ่งกฎหมายต้านการผูกขาดเพื่อรักษาผลประโยชน์
ทั้งนี้ จีนนำเข้าสินแร่เหล็กในไตรมาสแรกปีนี้ 155 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน แม้ว่าราคาสินแร่เหล็กที่นำเข้ามาจะดีดตัวขึ้น 20% เป็น 96 ดอลลาร์ต่อตันในไตรมาสแรกแล้วก็ตาม