นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องให้สำนักงานบริการการเงินของอังกฤษ (FSA) เข้าตรวจสอบบริษัท โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ หลังจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับโกลด์แมน แซคส์ ในข้อหาฉ้อโกง หลังจากที่ปกปิดข้อมูลกับลูกค้า ซึ่งทำให้ลูกค้าขาดทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงวิกฤตการณ์ซับไพรม์ที่ผ่านมา
"ผมต้องการให้ FSA ยื่นมือตรวจสอบโกลด์แมน แซคส์ อย่างละเอียด รวมทั้งตรวจสอบบริษัทและสถาบันการเงินรายอื่นๆด้วยว่ามีการฉ้อโกงนักลงทุนเหมือนกับโกลด์แมน แซคส์ หรือไม่ ผมต้องการให้ FSA ดำเนินการในทันที โดยร่วมมือกับ SEC" นายบราวน์กล่าวทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี
นอกเหนือจากอังกฤษแล้ว มีรายงานว่ารัฐบาลเยอรมนียังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือตรวจสอบโกลด์แมน แซคส์ และให้ขอข้อมูลโดยละเอียดจาก SEC ด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา SEC ตัดสินใจยื่นฟ้อง โกลด์แมน แซคส์ รวมทั้งนายฟาบรีซ ตูร์เร รองประธานของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรียกว่า "ABACUS 2007-AC1" ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน หรือ ตราสารซีดีโอ (collateralized debt obligation) โดย SEC ระบุว่า โกลด์แมนไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับ ABACUS 2007-AC1 ต่อนักลงทุน
นอกจากนี้ SEC ระบุว่า โกลด์แมน แซคส์ ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบความจริงเกี่ยวกับการที่บริษัท พอลสัน แอนด์ โค มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกหลักทรัพย์เข้าพอร์ตลงทุนดังกล่าว โดยบริษัทพอลสันทำกำไรได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการคาดการณ์ที่ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐจะทรุดตัวลง แต่การเก็งกำไรในลักษณะดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายอื่นๆเป็นมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหนึ่งในลูกค้าก็คือธนาคารไอเคบี ของเยอรมนี และธนาคารเอบีเอ็น อัมโร ของเนเธอร์แลนด์
ทั้งนี้ ตราสารซีดีโอ คือตราสารหนี้ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน ผู้ออกตราสารซีดีโอซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน จะนำสินทรัพย์ที่ตนเองมีอยู่ เช่น สินเชื่อจำนองบ้าน มารวมกลุ่มกันก่อนจะจัดโครงสร้างตามเกรด แล้วเสนอขายให้ผู้ลงทุน แม้จะมีความซับซ้อนสูง แต่ซีดีโอก็ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐเติบโตถึงขีดสุดในช่วงปี 2543- 2550 ก่อนที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะแตก และสร้างความเสียหายในวงกว้าง
การที่ SEC ฟ้องดำเนินคดีกับโกลด์แมน แซคส์ ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงสุดในรอบหลายปีของโกลด์แมน แซคส์ และยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่โกลด์แมน แซคส์ เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและการจ่ายผลตอบแทน นอกจากนี้ คดีดังกล่าวทำให้มีสัญญาณจากฝั่งรัฐบาลสหรัฐว่า คณะทำงานของโอบามาจะยังคงเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนความเสี่ยงสูงในวอลสตรีท เพื่อไม่ให้วิกฤตซับไพรม์เกิดขึ้นซ้ำสอง
นอกจากนี้ โอบามายืนยันว่าจะใช้สิทธิอำนาจของความเป็นประธานาธิบดียื่นคัดค้านร่างกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินทันที หากบทบัญญัติต่างๆ ไม่เข้มงวดพอและไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงของตลาดตราสารหนี้ได้