(เพิ่มเติม) นายกฯ สั่งประเมินผลกระทบทุกด้าน,เร่งหาทางช่วยเหลือลูกจ้าง-ผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 19, 2010 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบทุกด้านซึ่งเกิดจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมทั้งเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์ประกอบการบริเวณแยกราชประสงค์

"นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปประเมินตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ VAT(ภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือเรื่องอื่นๆ ในส่วนที่มีผลกระทบ โดยให้หน่วยงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปเร่งดำเนินการ" นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณฑ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.)

ขณะที่ภาคเอกชนได้เสนอความเห็นผ่านที่ประชุมฯ ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือยุบสภาในขณะนี้ ส่วนผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นหากยืดเยื้อ 1 เดือนจะส่งผลให้ GDP ราว 0.2% แต่หากยืดเยื้อไปถึง 3 เดือนจะกระทบกับ GDP มากขึ้นเป็น 0.5%

โดยผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แยกได้เป็น ผลกระทบของการบริโภคต่อจีดีพีวันละ 500-800 ล้านบาท ผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนทางตรงต่อจีดีพีระดับปานกลาง และผลกระทบต่อการท่องเที่ยววันละ 200-500 ล้านบาท

ดังนั้นเมื่อการชุมนุมยืดเยื้อถึง 1 เดือนจะเกิดผลกระทบของการบริโภคต่อจีดีพีราว 1-1.6 หมื่นล้านบาท ผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนทางตรงต่อจีดีพี 1-2 พันล้านบาท ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 1-2 หมื่นล้านบาท และผลกระทบโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจอีก 2.1-3.8 หมื่นล้านบาท หรือทำให้จีดีพีลดลง 0.1-0.2%

แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อถึง 3 เดือนจะเกิดผลกระทบของการบริโภคต่อจีดีพีราว 2-3 หมื่นล้านบาท ผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนทางตรงต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 1-2 หมื่นล้านบาท ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 4-5 หมื่นล้านบาท และผลกระทบโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจอีก 7 หมื่นล้านบาท-1 แสนล้านบาท หรือทำให้จีดีพีลดลง 0.3-0.5%

"การบริโภคและการใช้จ่ายภาคประชาชนอาจกลับมาชะลอตัวลง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนแม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบในทันทีแต่หากสถานการณ์ยิดเยื้อหรือเกิดเหตุรุนแรงขึ้นจะเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนตามมา" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ภาคเอกชนยังเห็นว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือยุบสภาจะส่งผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ที่จะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.53 จะเบิกจ่ายล่าช้าออกไป โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน

"ภาคเอกชนและตัวแทนที่มาร่วมประชุมในวันนี้ยืนยันว่าไม่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือการยุบสภา" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ผลจากการชุมนุมดังกล่าวทำให้ประเมินว่า ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 12-13 ล้านคน ลดลงจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 15.5 ล้านคน โดยพิจารณาจากอัตราการเข้าพักที่ลดลงเหลือเพียง 30% ซึ่งหากรัฐบาลสามารถเร่งประชาสัมพันธ์และทำแผนการตลาดได้ทันภายในไตรมาสที่ 3 ก็อาจช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเท่ากับเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ในส่วนของสถาบันการเงินเองมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในเรื่องอัตราดอกเบี้ย

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจกับภาคเอกชนว่าพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ โดยมอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนกับกลุ่มลูกจ้างรายวัน และผู้ประกอบการย่านแยกราชประสงค์ แต่ขอให้ภาคเอกชนได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้าง เพราะไม่ต้องการให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนสนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้ เนื่องจากข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงในขณะนี้เกินเลยไปกว่าเงื่อนไขทางการเมืองแล้ว โดยพบว่ามีกองกำลังติดอาวุธที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติแฝงตัวเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม

สำหรับการพิจารณาภาพรวมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น นายกรัฐมนตรีจะพยายามนัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการที่จะวินิจฉัยและกำหนดประเภทของอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อสรุปของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ ส่วนข้อเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันยางพาราและไม่ยางพารานั้น ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำไปพิจารณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ