ยุโรปประกาศเปิดน่านฟ้า-จัดโซนนิ่งการบิน มุ่งระบายผู้โดยสารตกค้าง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 20, 2010 09:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยุโรปจะเปิดน่านฟ้าบางส่วนเพื่อให้บริการเที่ยวบินเป็นบางส่วนในวันนี้ หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีคมนาคมจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่า เครื่องบินของสายการบินหลายแห่งสามารถบินฝ่าเขม่าควันที่เริ่มบางลงได้ ทำให้ผู้โดยสารหลายล้านคนที่ติดค้างอยู่ที่สนามบินทั่วโลกเริ่มมีความหวังในการเดินทางมากขึ้น

ที่ประชุมรมว.คมนาคมอียูมีมติให้เปิดน่านฟ้าเพื่อให้บริการด้านการบินบางส่วน โดยที่ประชุมได้แบ่งน่านฟ้ายุโรปออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ "no-fly zone" หรือเขตห้ามบินเนื่องจากเขม่าควันของภูเขาไฟมีความหนาทึบจนเครื่องบินไม่สามารถบินผ่านได้ ส่วนที่สองคือ "caution zone" หรือเขตระมัดระวัง เนื่องจากความหนาของเขม่าควันยังคงอยู่ในระดับอันตราย จึงมีกฎให้เครื่องบินที่จะบินผ่านต้องตรวจสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ให้ดีพร้อมก่อนขึ้นบิน และส่วนที่สามคือ "open-skies zone" หรือเขตน่านฟ้าเปิดที่อนุญาตให้เครื่องบินผ่านได้

รายงานระบุว่า สายการบิน KLM นำเครื่องบิน 3 ลำบินขึ้นจากสนามบินชิพโฮลในเมืองอัมส์เตอร์ดัมเมื่อเย็นวานนี้และมุ่งหน้าสู่สนามบินในนิวยอร์ก ดูไบ และเซี่ยงไฮ้ โดยสวัสดิภาพด้วยทัศนวิสัยที่ดีขึ้น ขณะที่สายการบินลุฟท์ฮันซาของเยอรมนีเตรียมนำเครื่องบิน 50 ลำพร้อมผู้โดยสารเดินทางสู่จุดหมาย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ที่ปรึกษาด้านเขม่าควันภูเขาไฟแห่งอังกฤษจะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการการบิน และจะประเมินความปลอดภัยด้านการบิน ซึ่งในเบื้องต้นนั้นทางศูนย์ระบุว่า เขม่าควันกลุ่มใหม่กำลังเคลื่อนตัวไปยังน่านฟ้าของอังกฤษ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเครื่องยนต์เครื่องบิน ขณะที่สำนักงานบริการการจราจรทางอากาศแห่งชาติของอังกฤษ (NATS) กล่าวว่า กลุ่มควันที่ลอยมุ่งหน้าสู่อังกฤษอาจทำให้ท่าอากาศยานหลายแห่งในอังกฤษไม่สามารถเปิดให้บริการได้

ถึงกระนั้นก็ตาม NATS กล่าวว่าจะอนุญาตให้เครื่องบินบางส่วนขึ้นบินได้ในช่วงเที่ยงวันนี้ แต่ก็กังวลว่าเขต open-skies zome อาจจะไม่ครอบคลุมไกลถึงกรุงลอนดอนซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของสนามบินหลักในอังกฤษ ส่วนสนามบินและน่านฟ้าของสก็อตแลนด์จะเปิดให้ใช้งานได้ในช่วงเช้าวันนี้ แต่สถานการณ์ของน่านฟ้าของไอร์แลนด์เหนือยังคงไม่แน่นอน

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยว่า เขม่าควันภูเขาไฟจะส่งผลให้อุตสาหกรรมสายการบินสูญเสียรายได้ถึงราว 250 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งนอกจากรายได้ที่หดหายไปแล้ว สายการบินต่างๆยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน การดูแลผู้โดยสารที่ตกค้างที่สนามบิน และเครื่องบินที่จอดรออยู่ตามสนามบินต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ