คลัง เผย Fitch ลดเครดิตไทยจากความไม่แน่นอนการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น-มาบตาพุด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า กรณี Fitch ได้ปรับแนวโน้มของระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Long - term Local Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น

ประกอบกับ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและสภาพแวดล้อมในการดำเนินนโยบายที่ถูกบ่อนทำลายลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความเชื่อมั่นทางเครดิตของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี Fitch เห็นว่า สถานะด้านการเงินต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่งจะยังคงสนับสนุนความเชื่อมั่นของไทยในรูปเงินตราต่างประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศปัจจุบันจะทวีความรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชะลอตัวลงนั้น มีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นและการไม่สามารถขจัดปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ รวมทั้งการปกครอง การดำเนินนโยบายและความเชื่อมั่นต่อผู้นำทางการเมืองที่ลดลง

บนพื้นฐานของค่าเฉลี่ย 5 ปี จะเห็นได้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่ำกว่าประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB และค่ามัธยฐานของประเทศในภูมิภาคที่มีระดับเครดิตเดียวกัน ขณะที่การขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่เป็นภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทย อุปสงค์ในประเทศ (ติดลบร้อยละ 5.7) ที่ลดลงส่งผลต่อการหดตัวลงถึงร้อยละ 2.3 ของ GDP ที่แท้จริง (real GDP) ในปี 52

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศ โดย Fitch คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.8 และ 4.2 ในปี 53 และปี 54 ตามลำดับ อันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ ภายหลังจากระยะเวลายาวนานในการทำให้ฐานะทางการคลังแข็งแกร่ง

Fitch ยังคงเห็นว่า ฐานะทางการคลังของไทยอาจถูกบ่อนทำลายลงในระยะปานกลางเนื่องจากการเผชิญกับการชะงักงันทางด้านนโยบาย จะเห็นได้จากการที่ไม่มีการปฏิรูปที่สำคัญในการทำให้รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้วาระของรัฐบาลสั้นลงและความเชื่อมั่นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายลดลง และการเกินดุลของรายได้รัฐบาลเทียบกับรายจ่ายปัจจุบันลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปีงบประมาณ 52 โดยอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 52 จากร้อยละ 6.4 ในปีงบประมาณ 49

นอกจากนี้ การขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังจากร้อยละ 50 มาอยู่ที่ร้อยละ 60 ในเดือนสิงหาคม 52 อาจแสดงถึงการผ่อนลงของวินัยทางการคลัง

สถานะการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิของไทยเทียบกับ GDP และรายรับด้านต่างประเทศในปัจจุบัน นับว่าแข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB โดยประเทศไทยมีสถานะการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 46 โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ในระดับที่เกินดุลตั้งแต่ปี 41 (ยกเว้นปี 48) และปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 138,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 52 (เทียบเท่า 9.7 เดือนของการใช้จ่ายด้านต่างประเทศในปัจจุบันและร้อยละ 47 ของเงินในความหมายกว้าง) สัดส่วนสภาพคล่องยังอยู่ที่ร้อยละ 430 ณ สิ้นปี 52

ทั้งนี้ สัดส่วนทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังคงอยู่ในระดับที่สูงและแข็งแกร่งกว่าค่ามัธยฐานของประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB แม้ว่าบรรยากาศทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อฐานะทางการคลังและสถานะด้านต่างประเทศของประเทศไทยไม่มากนัก แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อก็มีความเป็นไปได้ที่จะบ่อนทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดแรงกดดันในทางลบต่อระดับเครดิตของประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ