สศอ.ร่างแผนหนุนก่อสร้างใช้โครงสร้างเหล็กทั้งระบบด้วยงบประมาณ 2.7 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้จัดทำ "โครงการส่งเสริมการใช้งานโครงสร้างเหล็กประเภทชิ้นส่วนสำเร็จ" โดยมอบให้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ศึกษาใช้งบประมาณ 2.7 ล้านบาท โดยแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ซึ่งจะทำให้ทราบถึงประโยชน์ ความคุ้มค่าและผลกระทบในแง่ต่างๆ ในช่วงการก่อสร้างในเชิงพานิชย์หรือสิ่งก่อสร้างสาธารณะ (งานก่อสร้างภาครัฐ) ด้วยโครงสร้างเหล็กประเภทชิ้นส่วนประกอบสำเร็จ

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดจากมาตรการกระตุ้นขณะที่ประเทศไทยก็มีมาตรการกระตุ้นต่างๆ ออกมามากมาย โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องเร่งวางระบบให้อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยทันสมัย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกจากนี้ ผลของการศึกษาจะช่วยให้ภาครัฐมีแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กอย่างบูรณาการ และผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปช่วยในการวางยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจก่อสร้างแห่งอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้วงการก่อสร้างไทยได้ใช้โครงสร้างเหล็กเพิ่มมากขึ้น

"ปัจจุบัน การใช้งานโครงสร้างเหล็กประเภทชิ้นส่วนประกอบสำเร็จยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่ามูลค่าต้นทุนการก่อสร้างอาคารเหล็ก ราคาสูงกว่าอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก

ทั้งนี้ จากการศึกษา"โครงการส่งเสริมการใช้งานโครงสร้างเหล็กประเภทชิ้นส่วนสำเร็จ" เมื่อปี 2550 ที่สศอ.ได้จัดทำขึ้นพบว่าราคาเฉลี่ยของการก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กมีราคาสูงกว่าอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเฉลี่ยประมาณ 20% แต่หากพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กจะมีประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้นกว่าจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้พื้นที่ได้เร็วขึ้นซึ่งถือเป็นการลงทุนที่มีจุดคุ้มทุน และสร้างผลกำไรได้เร็วขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือช่วยลดปัญาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากฝุ่นระหว่างการก่อสร้างได้อีกด้วย"

นางสุทธินีย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่จะต้องเร่งพัฒนาอย่างเป็นระบบเพื่อก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการปรับตัวย่อมเสียโอกาสทางการแข่งขัน อีกทั้งมาตรการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายโครงการจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาวงการก่อสร้างของไทยให้มีความทันสมัย และเหล็กกับการก่อสร้างเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน

ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการศึกษาอย่างจริงจังและนำข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษามากำหนดนโยบายการพัฒนาที่ตรงจุดซึ่งจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ