กลุ่มผู้นำภาคธุรกิจในเอเชียใต้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีในภูมิภาค ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่การประชุมสุดยอดกลุ่มสมาคมความร่วมมือแห่งเอเชียใต้ (SAARC) ครั้งที่ 16 จะเปิดฉากขึ้นที่เมืองทิมพู เมืองหลวงของประเทศภูฏานในวันที่ 28-29 เมษายนนี้
โดยผู้นำภาคธุรกิจย้ำว่า กลุ่มอนุทวีปควรกำหนดมาตรการแก้ปัญหาความแตกต่างทางการเมือง ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ขณะที่นักธุรกิจซึ่งเข้าร่วมประชุมข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียใต้ (SAFTA) มองว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกจะมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายความตึงเครียดทางการเมือง
คุช คูมาร์ โจชี ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเนปาลกล่าวว่า หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลง SAFTA ไปเมื่อปี 2547 กลุ่ม SAARC ก็เริ่มมีความคืบหน้าในการรวมกลุ่มทางการค้าในภูมิภาค แต่ถึงกระนั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังดำเนินไปได้เพียง 5% ขณะที่ปัญหาด้านสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อตลาด มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ต้นทุนด้านการขนส่งที่อยู่ในระดับสูง และการขาดแคลนเม็ดเงินลงทุนของ SAARC ล้วนเป็นอุปสรรคกีดขวางการขยายตัวทางการค้าในภูมิภาค
ด้านเลขาธิการของ SAARC กล่าวว่า ปริมาณการค้าในภูมิภาคยังขยายตัวได้ไม่เร็วนัก เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำ ธุรกรรมซื้อขายยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้น การยกเลิกมาตรการกึ่งภาษีและการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการค้าในเอเชียใต้ การให้การรับรองคุณภาพสินค้า และการใช้ระบบอำนวยความสะดวกด้านการค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นบรรยากาศการซื้อขายให้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันผู้นำภาคธุรกิจแสดงความเห็นว่า บรรยากาศการค้าในภูมิภาคจะขยายตัวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของอินเดียในการทำหน้าที่เป็นแกนนำกลุ่มประเทศเอเชียใต้ รวมถึงความยืดหยุ่นของกระบวนการเปิดเสรีการค้า การลดค่าใช้จ่ายด้านการซื้อขาย และความสามารถด้านการผลิต ตลอดจนความต้องการมีส่วนรวมในโครงสร้างการผลิตระดับโลก
ทั้งนี้ การประชุม SAARC ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันจะมุ่งเน้นหารือในประเด็นต้นทุนและความร่วมมือในเอเชียใต้ รวมถึงผลกระทบของอุปสรรคทางการค้า และการกำหนดข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการรวมกลุ่มในภูมิภาค สำนักข่าวซินหัวรายงาน