น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ ผู้อำนวยการระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยถึงการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 (SUBCON Thailand 2010) ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ค.53 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคว่า การจัดงานซับคอนไทยแลนด์ในปีนี้ บีโอไอจะนำคณะนักธุรกิจจากต่างประเทศกว่า 70 ราย มาเข้าร่วมงาน เพื่อเจรจาซื้อชิ้นส่วนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่ออกบูธแสดงสินค้าในงาน ซึ่งการตอบรับเข้าร่วมงานของนักลงทุนต่างชาติแสดงให้เห็นถึงความสนใจและความมั่นใจในศักยภาพของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทย
การจัดงานซับคอนไทยแลนด์ เป็นงานเดียวในประเทศที่จัดแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) และการรับช่วงผลิต (Subcontracting) ของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในครั้งนี้จะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจไม่น้อยกว่า 2,000 คู่ และคาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยกว่า 4,000 ล้านบาท
"บีโอไอได้จัดงานซับคอนไทยแลนด์มาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ต้องการซื้อชิ้นส่วน โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตชิ้นส่วนมาร่วมออกงานกว่า 600 ราย และมีผู้ซื้อกว่า 450 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจกว่า 4,600 คู่ และเกิดการซื้อขายชิ้นส่วนเป็นมูลค่ากว่า 6,700 ล้านบาท ดังนั้นการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 ในปีนี้ จะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในอาเซียนอย่างแท้จริง" ผู้อำนวยการระดับสูงกล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 จะจัดให้มีการสัมมนาตลอด 3 วัน โดยหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทยในปัจจุบัน, บทบาทบีโอไอกับการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย, การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและสร้างทางเลือกใหม่, กลยุทธ์การขอสินเชื่อกับเอสเอ็มอีแบงก์, ยุทธการปั้นเอสเอ็มอีไทยบุกอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสไดร์ฟ และกลยุทธ์เพิ่มโอกาสแก่เอสเอ็มอีไทยให้ก้าวไกลสู่อาเซียน
น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า งานซับคอนในครั้งนี้บีโอไอยังมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีกิจกรรมเชื่อมโยงด้าน R&D ระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่ทำการวิจัย และยังมีศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ หรือ Thailand Center of Excellence in Physics ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาจารย์ทางด้านฟิสิกส์ของประเทศไทยที่นำความรู้ทางด้านฟิสิกส์มาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วน
โดยบีโอไอตั้งเป้าให้เกิดการนำเอาความรู้จากผลการวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงประมาณ 10 ผลงาน จากจำนวนของการจับคู่ด้าน R&D 50 คู่ เช่น การเพิ่มคุณสมบัติในการยึดติด และการเคลือบผิวด้วยเทคโนทางฟิสิกส์ เป็นต้น