วุฒิสภาผ่านร่าง กม.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตั้งกมธ.แปรญัตติใน 7 วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 26, 2010 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติผ่าน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...แล้ว โดยได้พิจารณาเห็นชอบตามกรอบเวลาภายใน 30 วันหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบไปตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.53

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวใช้เวลาพิจารณานานกว่า 3 ชั่วโมง โดยที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบด้วยคะแนน 92 ต่อ 2 และงดออกเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจำนวน 35 คน โดยแปรญัตติภายใน 7 วัน

ทั้งนี้สมาชิก ส.ว.ส่วนใหญ่ เช่น นายศิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช และนางสุกัญญา สุดบรรทัด ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายให้ความเห็นสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่ได้มีการผลักดันมาอย่างยาวนาน และเป็นร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่เป็นกังวลเรื่องความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยเห็นว่าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

การใช้สื่อจะต้องให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านศิลปะ และด้านสังคม ที่ปัจจุบันทุกสื่อให้ความสำคัญน้อยเกินไป ซึ่งหากเป็นไปได้ต้องการเสนอให้มีการนำเสนอรายการลักษณะดังกล่าว 50% ของเวลาทั้งหมด พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงเรื่องการถูกแทรกแซง เนื่องจากที่ผ่านมาสื่อมวลชนถูกครอบงำจาก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐทั้งในระบบและนอกระบบ และกลุ่มทุน จึงตั้งข้อสังเกตว่าจะทำอย่างไรที่จะให้สื่อของรัฐไม่ให้ถูกครอบงำจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหาวิธีการตรวจสอบอำนาจนอกระบบด้วย

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ในขั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวมาเป็นอย่างดี แม้ว่าในช่วงการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ แต่ในวาระแรกได้มีผู้อภิปรายจำนวนมาก อีกทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการได้ใช้เวลาในพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ถึง 10 เดือน โดยมีคณะทำงานประสานวุฒิสภาโดยตลอด

ทั้งนี้ ยังมีการอุดช่องว่างโดยเฉพาะเรื่องกรรมการ กสทช. ขณะเดียวกันยังมั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ แม้ในช่วงนี้จะมีความกังวลเรื่องการยุบสภา และอาจทำให้กฎหมายฉบับนี้ต้องชะงักลง โดยยืนยันว่าหากมีการยุบสภาจริงก็ไม่น่าจะมีปัญหา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ