ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงหนัก จากข่าว S&P หั่นเครดิตกรีซ-โปรตุเกส

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 28, 2010 07:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) หลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของโปรตุเกสและกรีซ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง

ค่าเงินยูโรร่วงลง 1.65% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3174 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.3395 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เงินปอนด์ดิ่งลง 1.29% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5251 ดอลลาร์/ปอนด์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 1.46% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.0876 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.0720 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่ร่วงลง 0.82% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 93.170 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 93.940 เยน/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 1.31% แตะที่ 0.9144 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9265 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.69% แตะที่ 0.7105 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7227 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

นักวิเคราะห์จากอาร์บีซี แคปิตอล กล่าวว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในยุโรปส่งผลให้เทรดเดอร์กระหน่ำขายยูโรอย่างหนัก หลังจากเอสแอนด์พี ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ "ระดับขยะ" หรือ "junk status" และลดอันดับความน่าเชื่อถือของโปรตุเกสลง 2 ขั้น สู่ระดับ A- จากระดับ A+

ทั้งนี้ แม้มีรายงานว่ารัฐบาลกรีซได้ยื่นขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่นักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าจำนวนเงินดังกล่าวอาจไม่มากพอ และอาจทำให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าแผนการช่วยเหลือกรีซอาจชะงักงัน หลังจากนางแองเจลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีประกาศว่าจะยังไม่ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่กรีซจนกว่ากรีซจะกำหนดแผนการระยะยาวในการลดตัวเลขขาดดุลบัญชีงบประมาณ

ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนหลังจากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนเม.ย.พุ่งขึ้นแตะระดับ 57.9 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สในเดือนก.ย.ปี 2551 เพราะได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อตลาดแรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ 53.5 จุด

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมถึงนักวิเคราะห์จากพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่กรอบ 0-0.25% ในการประชุมที่จะเสร็จสิ้นลงในคืนนี้ (28 เม.ย.) ตามเวลาประเทศไทย และคาดว่าคณะกรรมการเฟดจะประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นด้วย

การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณการฟื้นตัวในหลายภาคส่วน รวมถึงตัวเลขจ้างงาน ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค และภาคการผลิต ที่ขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค.พุ่งสูงขึ้น 27% แตะระดับ 411,000 ยูนิตต่อปี และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค.ที่ไม่นับรวมยอดสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งขยายตัวสูงเกินคาดที่ระดับ 2.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ