เยอรมี-ไอเอ็มเอฟ-ธนาคารกลางยุโรป เห็นพ้องไม่ลอยแพกรีซ เร่งหาข้อสรุปช่วยเหลือ

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 29, 2010 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางแองเจลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมร่วมกับนายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ว่า กรีซจะไม่ถูกลอยแพจนกลายเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์การเงินในระบบแบบเดียวกับเลห์แมน บราเธอร์ส และทุกฝ่ายควรเร่งเจรจาเพื่อกู้วิกฤตการเงินของยุโรป หลังจากกรีซ โปรตุเกส และสเปน ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประกาศลดเครดิตภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง

"การวางแผนรับมือกับกรณีของกรีซทำให้เรารู้ว่า ทุกฝ่ายไม่อาจปล่อยให้สถานการณ์ของกรีซลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายในระบบเศรษฐกิจเหมือนกับเลห์แมน บราเธอร์สได้ หากเสถียรภาพโดยรวมของยุโรปถูกคุกคามหรือตกอยู่ในอันตราย ชาติสมาชิกยุโรป รวมถึงเยอรมนี ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการกอบกู้เสถียรภาพให้กลับคืนมา" นางแมร์เคลกล่าว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การแสดงความเห็นของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีมีขึ้นหลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของกรีซลงสู่ระดับไม่น่าลงทุน หรือระดับขยะ (junk status) และลดอันดับความน่าเชื่อถือของโปรตุเกสลง 2 ขั้น สู่ระดับ A- จากระดับ A+ พร้อมกับให้แนวโน้มเป็นลบ และหลังจากนั้นเพียงวันเดียว เอสแอนด์พีได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนลง 1 ขั้น สู่ระดับ AA จากระดับ AA+ และให้แนวโน้มเชิงลบ โดยระบุว่าสถานะการคลังของสเปนถดถอยลง และเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวลง

"เห็นได้ชัดว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกรีซ คณะกรรมาธิการยุโรป และไอเอ็มเอฟ ต้องรีบหาสรุปให้เร็วขึ้น ซึ่งเยอรมนีคาดว่าการเจรจาจะสามารถหาข้อยุติได้ในอีก 2-3 วันข้างหน้า เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อพยุงกรีซให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์การเงิน และจะไม่ให้วิกฤตการณ์เช่นนี้เข้าไปสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ" นางแมร์เคลกล่าว

ด้านนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า "จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งหาข้อสรุปในการกู้วิกฤตการณ์การเงินของกรีซ และทางรัฐบาลกรีซก็ยินยอมให้ความร่วมมือตามแผนการลดยอดขาดดุลงบประมาณ ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวในด้านบวก"

อย่างไรก็ตาม นายสเตราส์-คาห์น และนางแมร์เคล ปฏิเสธที่จะระบุวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือกรีซ แม้สถานีโทรทัศน์ N-TV รายงานโดยระบุบทสัมภาษณ์ของนายสเตราส์-คาห์นก่อนหน้านี้ว่า แผนการให้ความช่วยเหลือกรีซควรครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี และมีวงเงินรวมประมาณ 1-2 แสนล้านยูโร

"เราจะคุยกันเรื่องวงเงินก็ต่อเมื่อการเจรจาเรื่องแผนการช่วยเหลือกรีซเสร็จสิ้นลงแล้ว" นางแมร์เคลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ