สถาบันอาหารคาดปี 53 ส่งออกอาหารโต 10%แตะ 8.3 แสนลบ. แต่ภัยแล้งอาจกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 29, 2010 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3 - 4 และค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกอาหารไทยปีนี้จะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 830,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2552

หลังจากไตรมาสแรกปี 53 ภาคส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 ด้วยมูลค่าส่งออก 205,062 ล้านบาท ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 รับการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยไตรมาสแรกเพิ่มมูลค่าส่งออกไปอาเซียนได้เกือบร้อยละ 100 เมื่อเทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือมีมูลค่า 49,220 ล้านบาท ถือเป็น 1 ใน 4 ตลาดหลักการค้าของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 24 ของมูลค่าส่งออกอาหาร มีน้ำตาลทราย และข้าว เป็นสินค้าชูโรง ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากอาเซียนมีมูลค่า 8,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ได้แก่ปลาแช่แข็ง รังนก ปลาทะเลสด เมล็ดโกโก้ ปลาทูน่า เป็นต้น

สำหรับไตรมาส 2 คาดว่า ส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบจากไตรมาสแรกของปีนี้ด้วยมูลค่า 201,944 ล้านบาท และ มั่นใจสิ้นปี 53 ภาพรวมส่งออกอาหารจะโตร้อยละ 10 และก้าวสู่ 830,000 ล้านบาทได้ไม่ยาก หากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 3 - 4 หลังใช้ข้อตกลงอาฟต้าปรับลดภาษีเหลือร้อยละ 0 จนเกือบหมด

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาวะภัยแล้ง-โลกร้อนอาจทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะผลผลิตกุ้ง ผัก ผลไม้ และน้ำตาลทรายมีแนวโน้มลดลง อาจกระทบส่งออกครึ่งปีหลัง

ด้านนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยภายหลังมีการปรับลดอัตราภาษีภายใต้เขตเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นร้อยละ 0 จนเกือบหมดตั้งแต่ต้นปี 53 เป็นต้นมา ว่า ปัจจุบันอาเซียนถือเป็น 1 ใน 4 ตลาดหลักทางการค้าของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 24 ของมูลค่าส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 และที่เหลืออีกร้อยละ 76 เป็นการส่งออกไปยังประเทศนอกอาเซียน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป แอฟริกา เป็นต้น โดยไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา การส่งออกอาหารไทยไปยังอาเซียนมีมูลค่า 49,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย พิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ส่วนการนำเข้าอาหารจากอาเซียนมีมูลค่า 8,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สัดส่วนนำเข้าจากอาเซียร้อยละ 14.6

ตลาดนำเข้าหลัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยในตลาดอาเซียน ได้แก่ น้ำตาลทราย มีสัดส่วนร้อยละ 34.2 รองลงมา คือ ข้าว มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 17.8 ซึ่งสินค้าทั้งสองมีสัดส่วนส่งออกรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนสินค้าอาหารอื่นๆ มีมูลค่าส่งออกไม่มาก สินค้านำเข้าของไทยจากอาเซียนส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ เช่น ปลาแช่แข็งรังนก ปลาทะเลสด เมล็ดโกโก้ ปลาทูน่า เป็นต้น

สำหรับปัญหาโลกร้อนที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลเฉพาะด้านพืชผลทางการเกษตรที่ผลผลิตลดลงเท่านั้น แต่ได้สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่จะต้องหามาตรการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ผลิตก็ควรต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ