นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ได้ประเมินสถานการณ์การเมืองขณะนี้ได้ส่งผลกระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(GDP) ปี 53 ไปแล้วราว 0.2-0.5% และหากสถานการณ์มีความรุนแรงหรือยื้ดเยื้อไปมากกว่านี้อาจจะมีผลกระทบสูงถึง 1.8%
"ก่อนหน้านี้ คาดไว้ว่ากระทบ 0.2% แต่จากที่สถานการณ์มีการยืดเยื้อน่าจะกระทบเกินกว่า 0.2% แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากไปขึ้นก็จะอีกกระทบ 1.8%" นายสาธิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมากเข้ามาช่วยสนับสนุน แม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอย่างรุนแรงก็ตาม โดยก่อนที่จะมีการชุมนุมช่วงตั้งแต่วันที่ 1-15 มี.ค.จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.6% จากช่วงเดียวเดียวกันของปีก่อน แต่ช่วงวันที่ 16-31 มี.ค.อัตราการขยายตัวลดลงเหลือเพียง 12.9% และช่วงวันที่ 1-26 เม.ย.อัตราการขยายตัวติดลบ 3.72%
เดิมทีกระทรวงการคลังได้ประมาณ GDP ไตรมาส 1/53 ไว้ที่ 8% แต่ตัวเลขเศรษฐกิจด้านต่างๆ มีอัตราขยายตัวดีเกินคาด ไม่ว่าจะเป็น ยอดส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งรายได้เข้ารัฐ ทำให้ GDP ไตรมาส 1/53 มีอัตราขยายตัวใกล้เคียงที่ระดับ 9% แต่คงต้องรอดูการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) อีกครั้งในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่ตัวเลข GDP ในปี 53 กระทรวงการคลังประมาณการไว้ที่ 4-5%
นายสาธิต กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.53 ว่า ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ 40.9% และการใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวในระดับสูงที่ 27.6% ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในระดับสูงมากที่ 47.6% โดยสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 17.6% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 41.9% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและของภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.ปรับตัวลดลงเช่นกัน
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐ ขณะที่ความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดต่างประเทศลดลงเนื่องจากมีการเปิดตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลการการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.53 ที่ขยายตัวได้ดีส่งผลให้ไตรมาส 1/53 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกขยายตัวสูงมาก ประกอบกับนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา ได้เอื้อต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนให้ปรับตัวดีขึ้น
"เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 น่าจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การเมืองจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 แต่หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อ คาดว่าจะส่งกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว
ขณะที่นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า ความกังวลของต่างประเทศว่าปัญหาทางการเมืองในประเทศ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอาจลุกลามไปทั่วภูมิภาคนั้นคงไม่เกิดขึ้น เพราะประเมินว่าหากสถานการณ์รุนแรงสุดก็จะกระทบ GDP แค่ 1.8% เท่านั้น ซึ่งทำให้ GDP ทั้งปียังอยู่ในแดนบวก ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณาปรับประมาณการ GDP ปี 53 อีกครั้งในเดือน มิ.ย.