นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท โครงการความร่วมมือระหว่าง กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เป็นโครงการฯ ที่สนองตอบแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของภาครัฐ ในการมุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติและเป็นพลังงานสะอาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 910 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ (ITD) และบริษัท SINOHYDRO CORPORATION LIMITED โดยเริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ประกอบด้วยงานก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 6 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ ใช้ปริมาณน้ำในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยเครื่องละ 97.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ความสูงของหัวน้ำ 7.20 เมตร
ปัจจุบันมีความคืบหน้างานก่อสร้างแล้วร้อยละ 93 ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2553 จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้ปีละ 61 ล้านหน่วย ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงต่างประเทศปีละ 15 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 36,518 ตัน อีกทั้งชุมชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากเงินกองทุนพัฒนาชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นเงินประมาณปีละ 1.2 ล้านบาท
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา นับเป็นอีกหนึ่งในโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ.ที่แสดงถึงความตระหนักใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มีมติรับรองให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เป็นหนึ่งใน 5 โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานของ กฟผ. ที่สนับสนุนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดด้านพลังงานประเภทโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของหน่วยงานภาครัฐ