ครม.สัปดาห์หน้าถก"โมเดลเช็คช่วยชาติ"บรรเทาผลกระทบลูกจ้างย่านราชประสงค์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 30, 2010 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัญชลี เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และตัวแทนร้านค้าปลีกรายใหญ่ ถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงนั้น เบื้องต้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า(4 พ.ค.) เห็นชอบใช้โมเดลเช็คช่วยชาติมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุม โดยหลักการต้องเป็นผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณอัตราช่วยเหลือแล้วจะอยู่ที่รายละประมาณ 3,000 บาท

ทั้งนี้ มีจำนวนลูกจ้างตามที่ผู้ประกอบการแจ้งรายชื่อมาประมาณ 20,000 ราย ซึ่งเป็นลูกจ้างในระบบที่มีรายได้น้อยที่ขึ้นอยู่กับค่าคอมมิชชั่นและลูกจ้างทั่วไป แยกเป็นลูกจ้างของโรงแรม 10 แห่งบนพื้นที่ราชประสงค์จำนวนกว่า 3,297 คน และลูกจ้างของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ภายในอาคารห้างสรรพสินค้า 1,700 ราย จำนวน 17,000 คน ขณะที่ลูกจ้างนอกระบบที่ไม่ได้มีการประกันตนไว้กับกระทรวงแรงงานจะเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย(ทีทีอาร์) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะกลับไปจัดทำรายละเอียดการคำนวณจำนวนเงินเบื้องต้นที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างทั้ง 20,000 คน ให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะเป็น3,000 บาท หรือมากน้อยกว่านี้อย่างไร เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีตัดสินอีกครั้ง

ส่วนจะจ่ายเป็นเช็คเช่นเดียวกับเช็คช่วยชาติหรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่หลักการแล้วเงินช่วยเหลือต้องถึงมือลูกจ้างภายในเดือน พ.ค.นี้ ยืนยันว่าแนวทางที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือครั้งนี้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้นซึ่งแตกต่างไปจากการชดเชย โดยจะเริ่มนับจากวันที่ 14 มี.ค.เป็นต้นมา และยังมีเครื่องมือของรัฐภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงานเข้ามาดูแลตามกฎหมายด้วย

ขณะเดียวกันจะเร่งหารือกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและโรงแรมให้ผ่อนปรนเรื่องค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นตอบแทน เช่น การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่บรรดาผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะบางคนอาจเปลี่ยนไปขายของที่อื่นหรือขายของให้ผู้ชุมนุมแทน ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องไปตั้งโต๊ะเพื่อรับจดทะเบียนคนที่เดือดร้อนให้ชัดเจนก่อน

นายเกียรติ กล่าวว่า ได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) เพื่อขอให้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาท รวมทั้งต้องนำกลไกการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เข้ามาดำเนินการด้วย เพื่อลดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs โดยเร็วต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ