ศูนย์วิจัยกสิกร แนะรัฐวางยุทธศาสตร์ข้าว แก้โจทย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 30, 2010 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 2553 ถือว่าเป็นปีที่ผิดปกติอย่างมาก เนื่องจากในปีนี้ปริมาณสต็อกข้าวคงค้างมาจากปี 2552 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ปริมาณการผลิตของปี 2552/53 ก็สูงที่สุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2540/41 ตลาดส่งออกก็เผชิญกับปัญหาการแข่งขันอย่างรุนแรง ทำให้ราคาข้าวตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้าวเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องเผชิญ และจะต้องตัดสินใจ โดยรัฐบาลจะต้องชั่งน้ำหนักความเหมาะสมระหว่างสองแนวทางที่มีปรัชญาที่แตกต่างกัน คือแนวทางแรกที่ยึดกลไกตลาด ขณะที่จำกัดการแทรกแซงตลาด และจำกัดการอุดหนุน โดยภาครัฐมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตน เพื่อที่จะสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้ แม้ว่าแนวทางนี้จะลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญคือ การรวมกลุ่มชุมนุมของเกษตรกรเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล

อีกแนวทางหนึ่งคือ การช่วยเหลืออุดหนุนเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จากเหตุผลหลักที่เกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีฐานะยากจน การช่วยเหลือเกษตรกรจึงเป็นประเด็นทางสังคม เช่นเดียวกับการให้สวัสดิการสังคมกับแรงงานในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ผลที่ตามมาของการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ก็คือ เกษตรกรอาจขยายปริมาณการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลที่อาจต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันในปีต่อๆไป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการกำหนดความพอดีและเหมาะสมของทั้งสองแนวทางจึงเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าทางเลือกในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเฉพาะหน้าที่ภาครัฐอาจพิจารณาดำเนินการได้แก่ การปรับมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การปรับเพิ่มราคาประกัน การปรับเพิ่มปริมาณข้าวที่สามารถเข้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร การเพิ่มมาตรการจูงใจโรงสีในการเข้ามารับซื้อข้าวจากเกษตรกร และการเร่งระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลไปยังตลาดต่างประเทศ โดยการเจรจาขายข้าวระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล รวมไปถึงการพิจารณาลงทุนสร้างยุ้งฉางกลางสำหรับเก็บสต็อกข้าวของรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งระดับของการให้ความช่วยเหลือ หรือการดำเนินการของรัฐบาลในแต่ละมาตรการ ควรจะอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น และผลที่จะตามมาทั้งในปีนี้ และปีถัดๆไป

เนื่องจากนอกจากมาตรการช่วยเหลือต่างๆจะเป็นภาระทางการเงินของรัฐบาลในปีนั้นๆแล้ว ยังอาจสร้างภาระในปีต่อไปได้ หากเกษตรกรยังคงเพิ่มปริมาณการผลิต และกดดันราคาข้าวให้ภาครัฐต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลืออีก แต่ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือเลยเกษตรกรก็คงไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุน และอาจกลายเป็นปัญหาสังคม-การเมืองได้เช่นกัน

และในระยะยาวปัญหาข้าวจะซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้า การแข่งขันจะรุนแรง ทั้งจากคู่แข่งรายเก่าอย่างเวียดนาม และอินเดีย และคู่แข่งรายใหม่อย่างกัมพูชา และพม่า ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องวางยุทธศาสตร์ข้าว ซึ่งจะต้องมีการปฎิรูปในเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมในธุรกิจข้าวทั้งระบบ กล่าวคือ ต้องมีการวางแผนเพื่อกำหนดปริมาณการผลิตข้าวที่เหมาะสมในแต่ละปี โดยพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งปริมาณสต็อกปลายปีที่ผ่านมา สภาพตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งการกำหนดปริมาณการผลิตเกี่ยวโยงไปถึงปริมาณพื้นที่ที่จะปลูกข้าว โดยหลักการคือ ต้องให้เกษตรกรลดการพึ่งพิงการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว โดยการหารายได้ทางอื่นๆเพื่อชดเชยกับการจำกัดหรือควบคุมพื้นที่ปลูกข้าว ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของการค้าเสรีในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ