ภาคเอกชนหนุนโรดแมพนายกฯ เชื่อเป็นทางออกแก้ปัญหาการเมืองยุติโดยเร็ว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 4, 2010 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท) เปิดเผยว่า การที่นายรัฐมนตรีประกาศโรดแมพสร้างความปรองดองถือเป็นการทางออกที่ดีและมีความสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในทุกประเด็น จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา

แม้เรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องท้าทาย แต่ถ้าประสบความสำเร็จจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เชื่อว่าหากปัญหาการเมืองยุติโดยเร็วและเป็นไปด้วยดี ก็จะทำให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นักลงทุนต่างประเทศก็มีความเข้าใจดี

ประธาน สอท.กล่าวว่า จากปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างลำบาก ศักยภาพของของธุรกิจลดลง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะสิ่งสำคัญของภาคเอกชนคือความเชื่อมั่น หากประเทศมีเสถียรภาพและรัฐบาลมีความต้องเนื่องในการดำเนินนโยบาย ก็จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจมีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งในและต่างประเทศ

"แม้ลึกๆภาคธุรกิจของเราจะแข็งแกร่ง แต่ถ้าปล่อยไปก็อาจทำให้เกิดความอ่อนแอ คนที่เคยคิดจะลงทุนก็อาจจะหนีไปประเทศอื่นได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการต้องช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่จะฝ่าแนวต้านการเมืองด้วย คือ ความร่วมมือทำงานของทุกฝ่ายอย่างบูรณาการ ทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และภูมิภาค รวมถึงการพัฒนการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความสำคัญในการอยู่ร่วมกันของชุมชน เพราะที่ผ่านมาโครงการใหม่ๆยังไม่สามารถได้รับการตอบสนอง เนื่องจากติดปัญหาจากชุมนุม

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อเสนอขอนายกรัฐมนตรีครั้งนี้น่าจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์และลดความอึมครึมทางการเมืองได้ ซึ่งคงต้องติดตามดูผู้รับข้อเสนอว่าจะออกมาในรูปแบบใด รวมถึงติดตามกระบวนการจัดการตั้งเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับหรือไม่

ทั้งนี้ หากปัญหาการเมืองคลี่คลายตามที่นายกฯประกาศไว้ เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.53 ขณะที่ พ.ย.53 จะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอีก

ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ น่าจะกลับมาขยายตัวได้ในอัตราปกติตามที่หลายฝ่ายประเมิน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่ปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออกสูงถึง 60-70% ทำให้ไม่น่าเป็นห่วง และเศรษฐกิจอยู่รอดได้ แต่ปัจจัยสำคัญต่อไปจากนี้ คือการค้าโลกจะต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เนื่องจากตลาดสำคัญขณะนี้อยู่ในประเทศแถบเอเซีย จากอดีตที่ตลาดสำคัญคือสหรัฐและอียู

และการที่ไทยเริ่มมีการขยายตัวที่ดี มียุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ แต่หากยังมีความล่าช้าและขาดความต่อเนื่องอาจทำให้ไทยสูญเสียโอกาส และถูกประเทศอื่นแซงหน้าได้ ทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย

ที่ผ่านมา ภาคการลงทุนของไทยมีศักยภาพสูง แต่ยังไม่ใด้ใช้เต็มที่ เนื่องจากถูกการเมืองกดดัน ทำให้ขาดเข็มทิศชี้นำประเทศ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมดูแลเพื่อผลักดันประเทศ โดยมีการลำดับความสำคัญ นอกจากนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ ที่ควรมีการกระจายรายได้ให้คนระดับกลางมากขึ้น เพื่อลดปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะโครงกาประกันรายได้เกษตร ควรใช้รูปแบบรัฐสวัสดิการมากกว่าแบบประชานิยม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ