องค์การสหประชาชาติแนะนำให้ประเทศในเอเชียเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลเข้ากำลังส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) กล่าวในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่กำลังคุกคามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในระยะสั้น คือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากเม็ดเงินทุนจำนวนมากที่ไหลเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เงินหยวนที่แข็งค่าเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศจีน เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกของจีนในกลุ่มชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้า
นางโนลีน เฮเซอร์ เลขาธิการ UNESCAP กล่าวว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแปซิฟิกมีสภาพคล่องหนาแน่นขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้สกุลเงินแข็งค่าขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ในที่สุด ด้วยเหตุนี้ทางหน่วยงานจึงแนะนำให้ประเทศเอเชียเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า
รายงานของ UNESCAP ยังระบุด้วยว่า ในระยะสั้นนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อถือเป็นปัจจัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย และการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างล่าช้าของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น กำลังกลายเป็นปัญหาท้าทายต่อเอเชียด้วย พร้อมกับกล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเอเชียยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายด้านการเงินและการคลัง และการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย
"ภูมิภาคเอเชียอาจประสบกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหากประเทศเอเชียใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าประเทศคู่ค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐ เพราะการทำเช่นนี้จะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติให้ไหลเข้ามาจำนวนมาก และยังทำให้ค่าเงินในเอเชียแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบในด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" UNESCAP กล่าว