"ไตรรงค์"ยันยุบสภาไม่กระทบความเชื่อมั่นหากเปลี่ยนรัฐบาลตามระบอบ ปชต.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ระบุการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการสร้างความปรองดองที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกระบวนการของระบบประชาธิปไตย

"ไม่หรอก นักลงทุนที่เขามาจากประเทศที่เจริญแล้วทางด้านประชาธิปไตย เขาดูที่รัฐบาลมีความต่อเนื่อง ไม่จำเป็นว่าพรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล เพราะมีความต่อเนื่องในระบอบ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ อย่างประเทศญี่ปุ่น เดี๋ยวเปลี่ยนๆ แต่ที่เขากังวลก็คือใน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อยู่ๆ ก็มามีเผด็จการ มีการยึดอำนาจ ถ้าอย่างนี้นักลงทุนจะลังเลในการลงทุน การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติ" นายไตรรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ตนเองจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเกี่ยวกับการจัดทำปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 54 ที่หากมีการยุบสภาในช่วงวันที่ 15-30 ก.ย.นี้ โดยน่าจะมีการปรับให้เร็วขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการประชุมกัน เพราะโรดแมพเพิ่งออกมา

ส่วนกรณีที่โอนอำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการไทยเข้มแข็งที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานมาให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เป็นผู้ดูแลแทนนั้น นายไตรรงค์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วก็ยังต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองฯ อยู่ แต่การให้รัฐมนตรีคลังเข้ามาดูแลก็จะทำให้สังคมมีความมั่นใจมากกว่าปลัดกระทรวงฯ ดูแลเอง ความรับผิดชอบก็เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญหาก รมว.คลัง จะทำอะไรก็มาปรึกษาตนเอง

"คุณกรณ์ก็เป็นนักวิชาการคนหนึ่งเหมือนกัน ผมก็นักวิชาการ ดังนั้นไม่มีหรอก ไม่มีเอางบมาต่อรองทางการเมืองหรอก และงบของโครงการไทยเข้มแข็งก็มีเป้าหมายอยู่แล้ว 7 ข้อก็ต้องเรียงลำดับไป ถ้าจะมาขอนอกกรอบก็ไม่ได้ เราไม่ให้ ต้องอยู่ในกรอบ" นายไตรรงค์ กล่าว

นายไตรรงค์ กล่าวว่า สำหรับการเบิกจ่ายงบโครงการดังกล่าวยังมีความล่าช้า ทำให้ต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง

"ที่ผ่านมามันช้าไป ช้ากว่าการเบิกจ่ายงบประมาณ อย่างการเบิกจ่ายงบประมาณได้ครึ่งหนึ่ง แต่ของโครงการไทยเข้มแข็งได้แค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องเร่งรัดหน่อย ไม่มีปัญหา ต้องมีการปรึกษาหารือกัน คุณกรณ์ทำอะไรก็ต้องหารือผมอยู่แล้ว" นายไตรรงค์ กล่าว

นายไตรงค์ กล่าวว่า การลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็งต้องเป็นประโยชน์ในการเพิ่มรายรับประชาชาติให้ประเทศและระยะยาว เพราะมันหมดระยะเวลาที่จะต้องใช้ความเร่งด่วน เมื่อก่อนอย่างไรก็ได้ เอามาก็ให้มีความยุติธรรม เพราะตอนนั้นความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนขาดหายไป เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกทรุด เราจึงต้องเร่งรัดในตอนนั้น แต่ตอนนี้มันผ่านมาแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ดังนั้นก็พิจารณาเฉพาะโครงการที่ไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน แต่ต้องเป็นโครงการที่จะทำให้การเพิ่มรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นให้คุ้มกับอัตราดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ